ถุงลมปลาทอง

โรคถุงลมปลาทองอันตรายแค่ไหน ? สังเกตอาการแต่เนิ่น ๆ ช่วยป้องกันได้

เชื่อเลยว่า ผู้เลี้ยงปลาทองมือใหม่หลายท่านที่เพิ่งเลี้ยงปลาทองที่มีอายุ 2-3 เดือน คงจะยังไม่รู้จักโรคถุงลมปลาทองเพราะอาการเหล่านี้โดยส่วนมากจะเกิดขึ้นกับปลาทองที่มีอายุมากแล้ว อาจจะเกิน 1 ปีขึ้นไป ซึ่งหากคลุกคลีและเฝ้าดูน้องปลาเป็นประจำแล้ว จะสังเกตได้ง่าย ๆ เลยคือ น้องจะมีลักษณะการว่ายน้ำที่ค่อนไปทางเอียงซ้ายหรือขวา ไม่ก็หงายท้อง หรือก้นโด่ง ก้นจมผิดปกติ ในบางตัวจะว่ายนิ่งอยู่ก้นบ่อ ไม่ว่ายลอยขึ้นมาเล่นน้ำข้างบนเหมือนแต่ก่อน และอาการเหล่านี้คือความผิดปกติของถุงลม หรือที่เรียกกันในศัพท์ทางการแพทย์ว่า “Swim bladder dis order” โดยโรคนี้ถือว่าเป็นโรคยอดฮิตของปลาทองที่มีอายุมาก ซึ่งหากผู้เลี้ยงได้เอาใจใส่และดูแลอย่างใกล้ชิดแล้ว ก็จะสามารถรักษาให้หายดีเป็นปกติได้

ปลาทองว่ายหงายท้อง

ในบรรดาปลาสวยงามต่าง ๆ ปลาทองถือว่าเป็นปลาชนิดที่ป่วยเป็นโรคถุงลมปลาทองได้มากที่สุด เนื่องจากสรีระของตัวปลาที่มีลำตัวสั้น อ้วน กลม จึงทำให้อวัยวะภายในมีโอกาสเบียดกันได้ง่ายเมื่อโตขึ้น ส่วนถุงลมของปลาทองนั้นปกติจะมีอยู่ด้วยกันจำนวน 2 อัน คือ ถุงลมส่วนหน้าและส่วนท้าย และการเบียดตัวของอวัยวะภายในนี้เอง ทำให้ถุงลมถูกกดทับ เคลื่อนตัวหรือแตกไปจำนวน 1 อัน

ถ้าหากถุงลมปลาทองเหลืออยู่ 1 อัน จะมีผลทำให้ปลาว่ายน้ำก้นโด่ง แต่ยังสามารถว่ายน้ำเคลื่อนตัวและทานอาหารได้ตามปกติ แต่หากถุงลมส่วนท้ายถูกเบียดมาอยู่บริเวณหน้าท้อง จะทำให้ปลาทองมีการว่ายน้ำหงายท้อง พลิกตัวกลับมาว่ายแบบปกติได้ยาก ส่งผลให้การทานอาหารได้น้อยและการใช้ชีวิตสั้นลงอีกด้วย

สาเหตุของการเป็นโรคถุงลมปลาทอง

โดยหลัก ๆ แล้วเกิดจากการเจริญเติบโตของอวัยวะอย่างเช่น ลำไส้ กระเพาะอาหาร และตับ ที่จะมีการขยายใหญ่ขึ้นตามพฤติกรรมของการทานอาหาร ฉะนั้นการให้อาหารในปริมาณที่เยอะเกินจำเป็น ทำให้น้องปลากลืนอากาศเข้าไปในท้องมาก ยิ่งปลาทองทานเยอะมากเท่าไรก็ยิ่งเกิดการสะสมของไขมันทำให้ตับขยายใหญ่ขึ้นด้วย รวมไปถึงการให้อาหารคุณภาพต่ำที่มีฟองอากาศอยู่ข้างในมากเกินไปจนทำให้ลำไส้อุดตัน

ถุงลมปลาทอง

การรักษาโรคถุงลมปลาทองและการป้องกันโรคด้วยตัวผู้เลี้ยงเอง

  1. ควบคุมอุณหภูมิน้ำในตู้ปลาให้อุ่นกำลังดี มีความคงที่ระหว่าง 21-26 องศาเซลเซียส เพราะปลาทองจะไม่ค่อยชอบน้ำเย็นสักเท่าไร เพราะการอยู่ในน้ำที่มีความเย็นเป็นเวลานาน จะมีผลต่อระบบอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกาย ทำให้เสียสมดุล ร่างกายทำงานหนักขึ้น และยังทำให้ระบบการย่อยอาหารของปลาทองนั้นช้าลง
  2. ปลาทองที่เป็นโรคถุงลมปลาทองนั้น สาเหตุหลักจะอยู่ที่การให้อาหาร หากขณะนี้ปลาทองของคุณประสบภาวะเช่นนี้อยู่ ลองเปลี่ยนการโรยอาหารแบบปกติ ให้แช่อาหารทิ้งไว้สักพักเพื่อให้นิ่มก่อนจะนำไปให้ปลาทาน เพื่อให้น้องปลาสามารถทานโดยที่ไม่กลืนอากาศเข้าไปด้วย แต่ก็ควรให้ในปริมาณที่น้อย เพื่อสังเกตอาการและป้องกันไม่ให้เศษอาหารเหลือ ทำให้น้ำขุ่นหรือเน่าเสียได้
  3. รักษาความสะอาดของตู้ปลาสม่ำเสมอ เพราะตู้ปลาที่ปล่อยให้น้ำขุ่นจะเป็นแหล่งเพาะเชื้อแบคทีเรียและปรสิตได้ ยิ่งหากน้องปลากำลังป่วยอยู่ จะยิ่งทำให้อาการแย่ลงและติดเชื้อได้ง่ายขึ้น ซึ่งมาตรฐานระดับค่า pH ที่เหมาะสมสำหรับการเลี้ยงปลาทองจะอยู่ระหว่าง 7.2-7.6
  4. งดให้อาหารปลาเป็นเวลา 3 วัน เพื่อให้อาหารที่ยังคงค้างในกระเพาะอาหารถูกย่อยไปจนหมด และทำให้กระเพาะอาหาร ลำไส้ รวมไปถึงอวัยวะภายในอื่น ๆ หดกลับมามีขนาดเท่าเดิมอีกครั้ง แต่การอดอาหารปลาทองนี้ควรทำเพียง 3 วันเท่านั้น อย่าปล่อยให้ปลาที่กำลังป่วยเป็นโรคถุงลมปลาทองอดอาหารเกิน 3 วันเด็ดขาด
  5. แยกตัวปลาทองที่ป่วยเป็นโรคนี้ออกจากปลาทองตัวอื่น ๆ เพื่อไม่ให้น้องปลาตกเป็นเป้าโจมตีของปลาที่แข็งแรงกว่าหรือปลาชนิดอื่น ๆ หากเลี้ยงรวมกันไว้ ให้แยกมารักษาเฉพาะในอ่างที่พอว่ายน้ำได้สะดวก ห้ามแยกมาไว้ในขวดโหลเด็ดขาด เพราะมีพื้นที่ว่ายน้อยและไม่มีระบบกรองน้ำ อาจจะทำให้ปลาทองเสียชีวิตได้

เมื่อเลี้ยงน้องปลาทองและเอาใจใส่อย่างดีที่สุดแล้ว ก็ยังไม่ทำให้โรคถุงลมปลาทองนั้นดีขึ้นได้ ควรนำน้องไปรักษากับสัตวแพทย์ เพื่อทำการเจาะระบายถุงลมหรือมีการใช้ยารักษาที่ไม่เป็นอันตรายกับตัวน้อง ไม่ควรดูคลิปการเจาะถุงลมแล้วลงมือรักษาปลาทองด้วยตัวเอง เพราะเป็นอวัยวะที่สำคัญจึงต้องพึ่งพาแพทย์เฉพาะทางและเครื่องมือแพทย์ที่ผ่านการฆ่าเชื้อมาแล้วเท่านั้น