ปลาทองท้องบวม

มือใหม่หัดเลี้ยงปลาทองต้องรู้ โรคปลาทองท้องบวม อันตรายถึงตายได้

ปัญหาของผู้เลี้ยงปลาทอง ปลาสวยงาม ที่พบเจอส่วนใหญ่ นอกจากจะปลาเป็นเชื้อรา ครีบและหางเปื่อยแล้ว สิ่งที่อันตรายที่สุดสำหรับนักหัดเลี้ยงปลาทองมือใหม่คือ โรคปลาทองท้องบวม ที่มีลักษณะท้องบวม เกล็ดพอง ลำตัวพองขึ้นจนผิดสังเกต หากปล่อยทิ้งไว้เพราะไม่มีประสบการณ์ ไม่เคยรู้มาก่อนว่าน้องปลาเริ่มป่วย เกล็ดของปลาจะเริ่มหลุดออกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และทำให้ปลาทองนั้นอายุขัยสั้นลง

ปลาทองท้องบวม

ปัจจัยที่ทำให้ปลาทองท้องบวมและวิธีการรักษา

สาเหตุหลัก ๆ โดยรวมของโรคปลาทองท้องบวมนั้น เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในน้ำ ซึ่งหากผู้เลี้ยงไม่ได้ดูแลเรื่องระบบกรองน้ำให้ดี และละเลยการเปลี่ยนน้ำ ดูแลรักษาความสะอาดของตู้ปลา ก็สามารถที่จะเกิดแบคทีเรียต่าง ๆ ขึ้นมาได้ โดยไม่จำกัดว่าจะต้องทำให้เกิดโรคท้องบวมนี้เพียงอย่างเดียว การที่น้ำไม่สะอาดสามารถที่จะเกิดโรคมากมายกับปลาทองของคุณได้ ไม่ว่าจะเป็นโรคเชื้อรา จุดขาว หนอนสมอ หรืออื่น ๆ ที่ทำให้ปลาตายและติดเชื้อไปสู่ปลาทองตัวอื่นได้ง่าย

อย่างที่สองคือ มีค่าแอมโมเนียในน้ำและไนโตรเจนสูง ซึ่งค่าแอมโมเนียจะเกิดขึ้นจากมูลของปลาทอง และไนโตรเจนมาจากอาหารปลาที่ให้จำนวนปริมาณมากจนเกินไป เมื่อน้องปลากินไม่หมด และตกค้างอยู่ในน้ำเป็นเวลานาน ก็จะกลายเป็นสารไนโตรเจนที่ส่งผลให้ปลาป่วยและทำให้ปลาทองบางตัวที่สุขภาพไม่แข็งแรงอยู่แล้วเป็นปลาทองท้องบวมได้ในที่สุด

ส่วนผู้เลี้ยงมือใหม่ท่านใดที่สงสัยว่าทำไมสารไนโตรเจนถึงเกิดขึ้นได้จากอาหารปลา และมีความเข้าใจผิดว่าอาหารที่กำลังให้อยู่นี้มีคุณภาพไม่ดีหรือไม่ ความจริงก็คือส่วนประกอบของอาหารปลาสวยงาม หรือของปลาทองจะมีโปรตีนเป็นส่วนผสมด้วยอยู่แล้ว แต่สาเหตุที่ทำให้เกิดสารตัวนี้ขึ้นมาก็เพราะว่าการที่มีเศษอาหารเหลือ และไม่ได้ทำการเปลี่ยนน้ำเมื่อน้ำเริ่มมีสีขุ่น จึงทำให้เป็นบ่อเกิดของเชื้อแบคทีเรียและไนโตรเจนขึ้นมานั่นเอง ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้ปลาทองเกิดโรคง่ายขึ้นแล้ว น้ำในบ่อเลี้ยงปลาที่มีค่าแอมโมเนียและไนโตรเจนสูง จะทำให้ออกซิเจนลดลง ส่งผลให้ลูกปลาทองเจริญเติบโตได้ช้าลงอีกด้วย

ปลาทองท้องบวม เพราะอะไร

ความเครียดของปลานำพาโรคมาให้

นอกจากน้องปลาทองจะเกิดโรคต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้นจากน้ำที่ไม่สะอาดแล้ว อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ภูมิคุ้มกันตก ก็คือความเครียดของปลา ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ อย่างเช่นความเครียดจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิของน้ำหรือสภาพแวดล้อม บางกรณีที่ผู้เลี้ยงจัดบ่อปลาให้อยู่นอกบ้านควรจะมีต้นไม้หรือจัดโซนให้มีมุมหลบแดดได้บ้าง เพื่อที่น้องปลาจะรู้สึกปลอดภัยและมีความเป็นส่วนตัวเพิ่มขึ้น

และอาจจะมีอีกหนึ่งสาเหตุก็คือ ตัวของผู้เลี้ยงเองที่รบกวนปลามากเกินไป เช่น หากที่บ้านมีเด็กเยอะ ก็ปล่อยให้เด็กมาจับปลาเล่น หรือสัมผัสตัวปลาบ่อย ๆ ก็อาจจะทำให้ปลาทองกลัวหรือรู้สึกถูกรบกวนมากเกินไป รวมไปถึงการย้ายปลาจากบ่อหนึ่งสู่อีกบ่อหนึ่ง ซึ่งแม้จะเป็นระยะเวลาสั้น แต่หากย้ายแบบไม่ระมัดระวัง แล้วทำให้ปลารู้สึกระคายเคืองกับกระชอน หรือการย้ายด้วยการโยนปลาสู่อีกบ่ออย่างรวดเร็วก็ทำให้น้องปลาเครียดแล้วนำไปสู่การป่วยเป็นโรคต่าง ๆ จนลุกลามเป็นโรคปลาทองท้องบวมได้เช่นกัน

ส่วนวิธีการรักษาเบื้องต้นนั้น ให้ผู้เลี้ยงแยกปลาทองที่ป่วยเป็นท้องบวมอยู่มาไว้ในภาชนะที่เตรียมน้ำพักไว้ก่อนแล้ว และมีการปรับสภาพน้ำด้วยเกลือปริมาณครึ่งช้อนชา ต่อน้ำ 2 ลิตร อาจจะเป็นกะละมังหรือตู้ปลาเล็กได้ โดยที่ให้ปริมาณน้ำนั้นท่วมตัวปลาขึ้นมานิดหน่อย ไม่ให้น้ำเยอะจนเกินไป สำหรับยาที่ใช้รักษานั้นสามารถใช้ยาเหลืองในการรักษาปลาได้โดยตรง และต้องมีการถ่ายน้ำออกในอัตราส่วน 1/3 ทุก ๆ วัน พร้อมกับสังเกตอาการว่าท้องยุบบวมแล้วหรือยัง และมีการว่ายน้ำที่ทรงตัวดี เคลื่อนไหวเป็นปกติ ดีขึ้นจากวันแรก ๆ ด้วยหรือไม่

ปลาทองเป็นปลาสวยงามที่เลี้ยงง่าย หากมีการใส่ใจดูแลเรื่องระบบน้ำและอาหารที่เหมาะสม นอกจากโรคปลาทองท้องบวมที่หากปล่อยไว้มีโอกาสตายได้สูงแล้ว โรคอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นกับน้องปลา แม้จะสามารถรักษาเบื้องต้นให้หายขาดได้ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่อันตรายต่อชีวิต ดังนั้น ควรหมั่นเปลี่ยนน้ำทุกสัปดาห์และหมั่นตรวจเช็คน้องทุกครั้งที่ให้อาหารว่าน้องมีการว่ายน้ำปกติดีทุกตัว เพียงเท่านี้น้องปลาทองก็จะอยู่กับเราไปนาน ๆ จนสิ้นอายุขัยตามธรรมชาติ