เหงือกปลาทอง

อาการลักษณะที่ผิดปกติของเหงือกปลาทองบ่งบอกน้องกำลังป่วย

ปลาทองสัตว์เลี้ยงแสนรักของใครหลายต่อหลายคนแม้จะมีความน่ารักน่าชัง แต่ก็เลี้ยงดูยากเอาการอยู่ โดยเฉพาะตอนที่ป่วย ก็จะเหมือนกับสัตว์น้ำทั่วไปที่มักจะดูแทบไม่ออกกันเลย ทำได้ก็เพียงแค่สังเกตอาการว่ายน้ำที่ผิดปกติไปเท่านั้น เหงือกปลาทองถือเป็นอวัยวะส่วนสำคัญที่อาจเกิดอาการผิดปกติได้ และนี่คืออาการผิดปกติที่อาจเกิดกับเหงือกของน้องปลาได้

อาการลักษณะที่ผิดปกติของเหงือกปลาทอง

เหงือกปลาทอง

เหงือกเป็นอวัยวะส่วนที่สำคัญมากของปลาทุกตัว มันหมายถึงระบบทางเดินหายใจเทียบเท่าปอดของมนุษย์ เหงือกปลาทองสามารถบ่งบอกได้ว่าน้องกำลังป่วยอยู่ ปลาปกติจะมีเหงือกเป็นลักษณะคล้ายขนนกเรียงตัวกันเป็นแผงอย่างเป็นระเบียบ มีสีแดงจัด ภายในเหงือกจะประกอบไปด้วยเส้นโลหิตฝอยจำนวนมากที่ทำหน้าที่หล่อเลี้ยงร่างกายของปลาทอง และเจ้าเหงือกนี่เองก็เป็นตัวกลางในการนำก๊าซออกซิเจนในน้ำเข้าไปสู่กระแสเลือด และขับถ่ายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาในเวลาเดียวกัน ถ้าปลาทองตัวไหนมีลักษณะที่ผิดปกติไป เช่น มีสีคล้ำ นั่นหมายความว่าปลาทองของเรากำลังป่วยอยู่นั่นเอง เราไปดูอาการนั้นกันดีกว่า

  1. โรคเหงือกเน่า เป็นโรคที่พบได้บ่อยมากที่สุด เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย อาการโดยทั่วไปเหงือกปลาทองจะบวมแดง ก่อนจะเริ่มเน่าและแหว่งหายไป ปลาจะเกิดการหายใจถี่ผิดปกติ และขึ้นมาหายใจบนผิวน้ำตลอดเวลา วิธีรักษาเบื้องต้น คือ ให้ปลาอยู่ในน้ำที่แช่ด่างทับทิม และถ่ายน้ำให้บ่อยขึ้น อุปกรณ์ในตู้ปลาอย่างเช่น หิน กรวด ก็ควรแช่ด่างทับทิมด้วย การให้อาหารควรให้อาหารเม็ดวันเว้นวัน ทำแบบนี้ต่อเนื่อง น้องปลาก็จะค่อย ๆ หายเป็นปกติเอง
  2. โรคติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งมาจากการเน่าเสียของน้ำ และเป็นสาเหตุทำให้ปลาติดเชื้อ และไม่สบายได้ง่าย สามารถพบได้ 4 แบบ คือ การติดเชื้อเข้ากระแสเลือด การเกิดแผลหลุม การพบจุดเลือดออกในอวัยวะภายใน ทำให้ทำงานผิดปกติ การตายของเนื้อเยื่อบริเวณเหงือกปลาทอง ซึ่งอาการเหล่านี้สามารถรักษาได้โดยการให้ยาปฏิชีวนะ

    โรคเหงือกปลาทอง

  3. การติดเชื้อรา มักพบขุย หรือก้อนสีขาวคล้ายสำลีตามตัว เหงือก และบริเวณต่าง ๆ วิธีป้องกันคือควบคุมคุณภาพของน้ำสม่ำเสมอ และสามารถรักษาได้โดยการแช่สารฟลอมารีน เกลือ หรือสารคอปเปอร์ซัลเฟต
  4. การติดเชื้อไวรัส เชื้อที่พบส่วนมาก คือ เชื้อ SVC และ KHV เชื้อนี้ร้ายแรงมาก เพราะเมื่อปลาติดเชื้อไวรัสแล้วอาจมีเชื้อแบคทีเรียตามมาด้วย สามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ การป้องกันที่ดีที่สุด คือ การดูแลปลาให้เหมาะสมถูกสุขลักษณะอยู่ตลอด เพื่อที่ปลาจะได้ไม่เกิดความเครียด และมีภูมิต้านทานที่ดี
  5. โรคที่เกิดจากปรสิตภายนอก ได้แก่ หนอนสมอ เห็บปลา เห็บระฆัง ปลิงใส และโปรโตซัว ปรสิตเหล่านี้จะฝังตัวเกาะอยู่ที่บริเวณทั่วไปของตัวปลา ไม่ว่าจะเป็นตามลำตัว และเหงือกปลาทอง วิธีสังเกตว่าปลาทองของเราเริ่มมีปรสิตนี้เกาะอยู่ ก็คือน้องปลาจะซึม ไม่กินอาหาร มักจะเอาตัวถูไปมากับของต่าง ๆ ที่อยู่ในตู้ เพื่อพยายามให้สิ่งที่เกาะอยู่หลุดออก เมื่อถูมาก ๆ เข้า เกล็ดก็จะเริ่มหลุดลอกออก เหงือกก็จะเริ่มเกิดการแดงช้ำ บวมอักเสบ วิธีการรักษา คือ นำน้องปลามาแช่ในสารที่เรียกว่าดิพเทอเร็กซ์ตลอด หรือทุก ๆ เจ็ดวันครั้ง ตลอดระยะเวลา 4 เดือน
  6. โรคเวลเว็ทหรือโอโอดิเนียม เป็นโรคที่เกิดจากปรสิตชนิดหนึ่ง บริเวณลำตัวและเหงือกปลาทองจะมีสนิมสีน้ำตาลเกาะอยู่ ถ้ามีมากปลาจะหายใจไม่ออก และดิ้นทุรนทุราย วิธีรักษาให้นำน้องปลาไปอยู่ในน้ำที่แช่เกลือ ทำซ้ำ 2-3 ครั้ง ระยะเวลา 2-3 วัน
  7. โรคที่เกิดจากพิษของเสียในน้ำ เช่น แอมโมเนีย ไนเตรท และไนไตรท์ น้ำเสียจะกัดผิวหนัง ครีบ และเหงือก ก่อให้เกิดการระคายเคือง มีจ้ำเลือดขึ้นตามตัว ครีบ หาง และเหงือกเปื่อย ปลาจะซึม เบื่ออาหาร และอาจตายได้

เหงือกปลาทองมีความสำคัญต่อน้องปลามาก เพราะมันคือส่วนหนึ่งของระบบการหายใจ หากได้รับอันตรายไม่ว่าจากกรณีใดก็ตาม ย่อมส่งผลต่อชีวิตของน้องปลาได้ ดังนั้นผู้เลี้ยงควรดูแลน้องปลาเป็นอย่างดี เพื่อที่น้องปลาจะได้อยู่กับเราไปอีกนานแสนนาน