ลูกปลาทอง

อนุบาลลูกปลาทองอย่างไร ให้สวยอ้วนทุกตัว ไม่พิการ

เป็นเรื่องปกติหากใครที่กำลังเลี้ยงปลาทองตัวโตเต็มวัยแล้ว หากเลี้ยงน้องตัวผู้และตัวเมียรวมอยู่ด้วยกันเป็นคู่ย่อมจะต้องมีการขยายพันธุ์เป็นเรื่องธรรมดา และยิ่งเป็นปลาทองด้วยแล้ว หากต้องการเลี้ยงแล้วเพาะพันธุ์ลูกปลาทองไว้จำหน่ายต่อ ปลาทองนั้นสามารถตั้งครรภ์ได้ตลอดทั้งปี เรียกได้ว่าพร้อมมีไข่ให้ตลอดแบบไม่หยุดพัก แต่เมื่อตัวเมียฟักไข่จนออกมาเป็นลูกปลาทองตัวเล็ก ๆ แล้ว หลายคนเลี้ยงไม่เป็นและทำให้ลูกปลานั้นติดโรค ติดเชื้อรา อดอาหารบ้างและตายไปในที่สุด

สำหรับในวันนี้ เราจึงมีความรู้มาแบ่งปันให้สำหรับการอนุบาลเจ้าปลาทองตัวน้อยตั้งแต่ฟักออกมาเป็นตัวจนเติบใหญ่ สามารถย้ายบ้านไปสู่เจ้าของใหม่ได้ โดยให้มีร่างกายแข็งแรง สีสวย ตัวอ้วนท้วนสมบูรณ์ และมีรูปทรงสวยงามตามลักษณะของสายพันธุ์นั้น

วิธีเลี้ยงลูกปลาทอง

หัวใจสำคัญในการเลี้ยงลูกปลาทองให้รอด สุขภาพดีทุกตัว

ก่อนที่จะให้แม่ปลาทองคลอดนั้น ผู้เลี้ยงควรจะเตรียมน้ำในบ่อฟักตัวอ่อนประมาณ 1 วัน ซึ่งไม่ต้องเป็นบ่อที่ใหญ่เกินไปสำหรับการเพาะพันธุ์แม่ 1 ตัว เพราะจะทำให้ควบคุมลูกปลาได้ยาก และเปิดออกซิเจนทิ้งไว้ หลังจากที่ตัวเมียฟักไข่ออกมาแล้ว สิ่งแรกที่ผู้เลี้ยงปลาทองควรรีบทำคือให้ย้ายพ่อกับแม่ปลาทองออกไปก่อน เพราะปลาทองอาจจะกินไข่หรือตัวอ่อนได้ และที่สำคัญควรสังเกตการณ์เกี่ยวกับรายละเอียดดังต่อไปนี้

  1. หลังจากที่ลูกปลาทองฟักเป็นตัวอ่อนภายใน 2-3 วันแรก ยังไม่ต้องกังวลเรื่องอาหาร เนื่องจากลูกปลาทองจะดำรงชีพด้วยอาหารจากถุงไข่แดงที่อยู่บริเวณหน้าท้อง หลังจากนั้นจึงจะเริ่มให้อาหารได้ ซึ่งอาหารที่ดีเหมาะสมกับลูกปลานี้คือไข่แดง ไม่ว่าจะเป็นไข่แดงต้มจากไข่เป็ดหรือไข่ไก่ได้ทั้งนั้น โดยต้มให้สุกแล้วนำมาบดให้ละเอียดที่สุดแล้วนำมากรองกับผ้าขาวบางอีกที เพราะลูกปลายังมีขนาดปากที่เล็กมาก จึงยังไม่สามารถกินอาหารของลูกปลาปกติได้แม้จะละลายน้ำแล้วก็ตาม สำหรับปริมาณการให้ไข่แดงเป็นอาหารนี้ ให้เพียงวันละ 1 ฟอง ต่อลูกปลาจำนวน 100,000 ตัว เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว
  2. เมื่อลูกปลามีอายุได้ 1 สัปดาห์แล้ว จึงเริ่มเปลี่ยนอาหารและอาหารที่ดีที่สุดในช่วงอายุนี้คือ ไรแดง ซึ่งเป็นอาหารที่มีชีวิตที่มีขนาดเล็กมาก จึงมีสารอาหารที่ครบถ้วนเหมาะสมกับการเติบโตของลูกปลาทองในวัยนี้ ซึ่งควรเป็นไรแดงสดวันต่อวัน จะดีกว่าไรแดงที่ตายแล้วหรือไรแดงอัดแช่แข็ง การให้ไรแดงกับลูกปลานี้สามารถให้ยาวต่อเนื่องได้ทุกวัน วันละครั้งไปจนถึงอายุครบ 1 เดือน แต่เมื่อลูกปลามีอายุครบ 15 วันแล้ว อาจจะเริ่มให้อาหารเสริมสำเร็จรูปเสริมด้วยได้ ในกรณีที่ไรแดงในท้องตลาดขาดหรือหาซื้อไม่ทัน

    วิธีเลี้ยงลูกปลาทองในบ่อ

  3. สำหรับการอนุบาลลูกปลาตัวน้อยนั้น ไม่ควรเลี้ยงในบ่อที่มีความลึกมาก หากมีการอนุบาลในอ่างขนาดใหญ่ ควรจะมีพื้นที่ในการเลี้ยงอยู่ที่ 200-250 ตัวต่อตารางเมตร เพื่อไม่ให้มีความหนาแน่นมากจนเกินไป เพราะมีผลต่อการเจริญเติบโต ทำให้ได้รูปร่างที่ไม่สวยงามตรงตามสีและลักษณะของสายพันธุ์นั้น
  4. ในการให้อาหารแต่ละครั้ง ไม่สามารถจำกัดปริมาณให้ตายตัวได้ จึงทำให้เกิดเศษอาหารเหลือ กินไม่หมด แล้วทำให้น้ำตกตะก่อน เน่าเสียได้ในภายหลัง เมื่อผู้เลี้ยงเริ่มเห็นว่าน้ำขุ่นแล้ว อาจจะมีการสูบน้ำออกเพียงเล็กน้อยหรือ ¼ ของน้ำทั้งหมด แล้วจึงเติมน้ำสะอาดที่พักไว้ ไม่ควรเปลี่ยนน้ำใหม่ยกบ่อ เพราะอาจจะทำให้ลูกปลาน็อคน้ำและตายได้ในทันที
  5. เมื่อลูกปลามีอายุครบ 1 – 1.5 เดือนแล้ว ลูกปลาจะมีขนาดโตขึ้น ควรคัดแยกลูกปลาทองออกไว้อีกบ่อหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่าลูกปลาทั้งหมดอาจจะมีขนาดตัวโตไม่เท่ากัน ควรคัดตัวโตออกจากตัวที่เล็กกว่า เพื่อแยกการให้อาหารบำรุงตัวที่เล็กให้โตทัน เพราะยิ่งเลี้ยงแออัดก็จะทำให้ลูกปลาบางตัวแคระแกร็นบางตัวไม่สมบูรณ์ หางลีบไม่แตกแฉก หรือมีครีบหลังงอกเพิ่ม

นอกจากการเลือกอาหารและดูแลเรื่องสถานที่ในการเลี้ยงลูกปลาทองให้เหมาะสมแล้ว การรักษาคุณภาพน้ำก็มีส่วนสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะหากระบบการกรองน้ำไม่ดี อาจจะทำให้มีการสะสมก๊าซภายในน้ำ ความเป็นกรดของน้ำประปา หรือหากใช้น้ำจากแหล่งธรรมชาติ ก็อาจจะมีโรคหรือพยาธิติดมากับน้ำได้ จึงควรหมั่นตรวจเช็กพร้อมกับการให้ออกซิเจนที่เพียงพอด้วย