ปลาทองแก้มป่อง

วิธีเลี้ยงปลาทองแก้มป่อง เลี้ยงอย่างไรให้อยู่ได้นาน ๆ

ปลาทองแก้มป่องหรือลูกโป่ง เป็นปลาทองสายพันธุ์ที่หน้าตาไม่เหมือนใคร เห็นแล้วรู้ได้ทันทีว่าใช่แน่ ๆ ด้วยถุงตาข้างแก้มที่มีลักษณะโป่งพองเหมือนลูกโป่ง ลักษณะของปลาทองแก้มป่องที่ดีคือมีถุงป่องสองข้างขนาดเท่ากัน ถ้ายิ่งป่องมากเท่าไรยิ่งดี โดยเฉพาะเมื่อมองจากด้านบนก็จะเห็นได้ชัดเจนทั้งด้านซ้ายและด้านขวาว่าเท่ากันหรือไม่ ส่วนครีบและหางควรมีลักษณะแผ่กว้าง ไม่มีครีบที่ปลายงอหรือหุบไปคนละทิศทาง ควรมีลักษณะครีบคู่ที่ขนานกันหรือชี้ไปในทิศทางเดียวกันอย่างสวยงาม ต้องอาศัยการดูแลเป็นพิเศษ จึงถือเป็นสายพันธุ์ปราบเซียนปลาทองสายพันธุ์หนึ่งเช่นกัน ก่อนเลี้ยงจึงควรศึกษาพฤติกรรมตามธรรมชาติของเขาและเทคนิคในการเลี้ยงให้ดี

ปลาทองแก้มป่อง

วิธีเลี้ยงปลาทองแก้มป่องให้อยู่นาน ดูแลทุกด้านให้อยู่คู่ตู้ปลายาว ๆ

จุดที่ต้องระวังเป็นพิเศษในการเลี้ยงปลาทองแก้มป่องคือการดูแลไม่ให้ส่วนถุงป่องข้างแก้มกระทบกระเทือน เพราะเป็นอวัยวะที่เขาใช้ในการทรงตัวขณะว่ายน้ำ จึงดูเปราะบางและเลี้ยงยากกว่าสายพันธุ์อื่น แต่วิธีการดูแลด้านอื่น ๆ โดยทั่วไปก็ไม่ต่างจากปลาทองสายพันธุ์อื่นมากนัก หากจัดการสภาพแวดล้อมในตู้ปลาอย่างดี มีอาหารที่ดี และหมั่นเอาใจใส่ด้วยการสังเกตอาการอยู่เสมอก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะเลี้ยงดูเขาให้อยู่กับเราได้นาน ๆ

  1. ลักษณะทั่วไปของปลาทองแก้มป่องที่คนเลี้ยงต้องรู้

ปลาทองแก้มป่องมีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีน แล้วจึงถูกนำมาพัฒนาสายพันธุ์ต่อที่ญี่ปุ่น จากนั้นจึงค่อยได้รับความนิยมแพร่หลายด้วยเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร ด้วยลักษณะพิเศษนี้เราจึงเห็นปลาทองสายพันธุ์นี้ได้เฉพาะในตู้มนุษย์เลี้ยงเท่านั้น ไม่พบตามแหล่งน้ำธรรมชาติอย่างแน่นอน ลำตัวค่อนข้างสั้น ส่วนใหญ่จะมีสีเหลือง สีแดง สีขาว สีส้ม หรืออาจมีหลายสีในตัวเดียว ถุงป่องข้างแก้มนั้นตอนเด็ก ๆ จะยังไม่เห็น แต่จะเริ่มขึ้นเมื่อมีอายุได้ประมาณ 6-9 เดือน และโตได้เต็มที่เมื่อมีอายุ 2 ปี ถือว่าค่อนข้างโตช้า ให้ลูกได้น้อย อายุขัยอยู่ที่ประมาณ 5-10 ปี ซึ่งอายุสั้นกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ

  1. จัดสภาพแวดล้อมในตู้ปลาให้เหมาะสม

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับปลาทองแก้มป่องเริ่มจากขนาดของตู้ปลา ซึ่งควรมีขนาดตั้งแต่ 10 แกลลอนขึ้นไป เนื่องจากมีถุงป่องข้างแก้มขนาดใหญ่ อีกทั้งการทรงตัวก็ไม่ค่อยดีเหมือนปลาทองสายพันธุ์อื่น จึงต้องการพื้นที่สำหรับว่ายและทรงตัวเผื่อขนาดด้านข้างที่ค่อนข้างกว้าง วัตถุที่ใช้ประดับตกแต่งในตู้ไม่ควรเป็นหิน กรวด พืชน้ำ หรืออุปกรณ์อื่น ๆ ที่มีเหลี่ยมคม เสี่ยงต่อการกระทบกระเทือนจนถุงป่องของเขาแตก และคอยระวังเรื่องตำแหน่งของเครื่องกรองน้ำหรือเครื่องปั๊มน้ำในตู้ เนื่องจากปัญหายอดฮิตอย่างหนึ่งของเขาคือถุงป่องมักเข้าไปติดอยู่กับเครื่องเหล่านี้

  1. อาหารสำหรับปลาทองแก้มป่อง

ปลาทองเป็นปลาที่กินได้ทั้งพืชและสัตว์ อาหารสำหรับปลาทองสายพันธุ์นี้จึงไม่ต่างจากปลาทองสายพันธุ์อื่นเท่าไร เน้นด้านคุณภาพและสารอาหารที่เพียงพอเป็นใช้ได้ ทั้งอาหารสด เช่น กุ้ง หนอน เพื่อเสริมโปรตีน และอาหารสำเร็จรูป แต่ด้วยความที่ทรงตัวลำบากจึงใช้เวลาในการกินอาหารค่อนข้างนาน หากเป็นอาหารสำเร็จรูปให้เลือกเป็นแบบเม็ดที่จมน้ำจะดีกว่าแบบแผ่นที่ลอยบนผิวน้ำ เพราะปลาทองแก้มป่องจะหายใจเอาอากาศเข้าไปเวลากินมากกว่าปลาทองสายพันธุ์อื่น แบบเม็ดที่จมน้ำจึงสะดวกต่อการกินของเขามากกว่า

วิธีเลี้ยงปลาทองแก้มป่อง

  1. วิธีดูแลเมื่อมีอาการป่วยหรือลูกโป่งแตก

ถ้าปลาทองแก้มป่องเกิดถุงป่องแตกขึ้นมาจะยังไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต สามารถเติบโตขึ้นใหม่ได้แต่มีโอกาสที่จะขนาดเท่าเดิมน้อยมาก อีกทั้งยังมีโอกาสติดเชื้อได้หากไม่ได้รับการรักษาที่ดี อีกทั้งเมื่อแตกเพียงข้างใดข้างหนึ่งก็จะทำให้ทรงตัวลำบาก จึงต้องเอาใจใส่ไม่ให้ถุงป่องแตก อีกอาการหนึ่งที่มักพบคือถุงป่องช้ำและตกเลือด ให้รักษาโดยการใช้เข็มช่วยเจาะเอาเลือดที่คั่งอยู่ออกมา แล้วแช่ด้วยยาปฏิชีวนะจนกว่าอาการจะดีขึ้นประมาณ 4-5 วัน

ปลาทองแก้มป่องสามารถเลี้ยงรวมกับปลาสายพันธุ์อื่นได้ แต่ควรเป็นสายพันธุ์ที่มีลักษณะนิสัยเหมือนกันกับเขา คือเป็นปลาที่ว่ายน้ำช้าและรักสงบ เพื่อไม่ให้เขาถูกปลาสายพันธุ์อื่นโจมตีจนถุงป่องบาดเจ็บนั่นเอง อาจมีข้อควรระวังเยอะสักหน่อย แต่ถ้าเลี้ยงได้ดีก็แสดงถึงความละเอียดของจิตใจผู้เลี้ยงได้เป็นอย่างดีเชียวล่ะ