ปลาทองเกล็ดตั้ง

รักษาอาการปลาทองเกล็ดตั้ง ด้วยตัวเองง่าย ๆ เพียงใช้สิ่งนี้

“ปลาทองเกล็ดตั้ง” ปัญหาน่ากลัวของคนเลี้ยงปลาทอง อาการเกล็ดตั้งเกิดจากอะไร แล้วจะจัดการอย่างไร เราจะพาทุกท่านไปทำความเข้าใจกับอาการนี้ รวมไปถึงสาเหตุและวิธีการรักษา ซึ่งจะนำไปสู่ความเข้าใจในการจัดการกับปัญหาโรคเกล็ดตั้งได้อย่างไร้ความกังวล

อาการของปลาทองเกล็ดตั้งหรือเกล็ดพอง เป็นลักษณะของเกล็ดที่จะตั้งหรือพองขึ้น โดยจะเกิดจากอาการบวมน้ำหรือมีแรงดันน้ำในตัวปลาสูงมากขึ้นนั่นเอง เป็นอาการที่ไม่ได้เจอบ่อย ๆ หรือจะเรียกได้ว่า เกล็ดตั้งหรือเกล็ดพองนั้น ไม่ใช่โรคประจำตัวของปลาที่จะมีการติดต่อกัน แต่เป็นอาการที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนักในปลาทอง โดยจะเกิดเพียง 1 ใน 10 ของปลาทองที่เลี้ยงอยู่ในตู้เดียวกันนั่นเอง

ซึ่งสาเหตุของอาการปลาทองเกล็ดตั้งนั้นก็เป็นไปได้หลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นจากกรรมพันธุ์ของปลา จากน้ำที่ใช้เลี้ยงในตู้ปลา ถ้าเกิดน้ำในตู้ปลานั้นสกปรกและไม่ได้เปลี่ยนถ่ายน้ำเป็นประจำ ก็จะทำให้ปลาทองป่วยได้ และสุดท้ายคือเป็นจากอวัยวะภายในของปลาทอง ไม่ว่าจะเป็นตับ ไต หรือบริเวณเหงือก หากเกิดติดเชื้อแบคทีเรียเข้าแล้วก็จะส่งผลให้ตัวบวม และนำไปสู่อาการเกล็ดตั้งเกล็ดพองได้

ปลาทองเกล็ดตั้ง

 

ข้อแนะนำในการวิธีการรักษาอาการปลาทองเกล็ดตั้ง

อาการปลาทองเกล็ดตั้ง จะแบ่งเป็น 3 ระดับ ด้วยกันคือ

  1. อาการเบื้องต้นที่ยังไม่รุนแรง ปลาทองจะกินอาหารปกติ และว่ายน้ำได้ แต่บริเวณเกล็ดจะเริ่มพองออก หากสังเกตได้ทันท่วงที ก็สามารถจับปลาทองแยกออกมาเลี้ยงเดี่ยวแล้วรักษาอาการได้ด้วยตนเองง่าย ๆ นำกลับเข้าไปเลี้ยงรวมในตู้เดิมได้
  2. จะเพิ่มระดับขึ้นมานิดหน่อย ปลาทองจะเริ่มซึม เกล็ดเริ่มตั้งจนเห็นผิวหนัง อาจจะต้องแยกออกมารักษาและใช้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วย ซึ่งก็ยังคงสามารถรักษาได้ด้วยตนเอง หลังจากปลาทองหายดีแล้วก็สามารถนำกลับเข้าไปเลี้ยงในตู้เดิมได้
  3. อาการเกล็ดตั้งขั้นรุนแรง ปลาทองจะเริ่มเกล็ดตั้งทั้งตัวแบบเห็นได้ชัด เซื่องซึม ไม่ว่ายน้ำ ไม่กินอาหาร และจมดิ่งก้นตู้ อาการแบบนี้ถือว่ารุนแรงขั้นสุด หากไม่อยากเสี่ยงต้องนำส่งพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทันที

วิธีการรักษาเบื้องต้นของอาการปลาทองเกล็ดตั้งสามารถสิ่งเหล่านี้เพื่อรักษาได้

  • เกลือ เกลือที่ใช้จะเป็นเกลือแกง หรือเกลือสมุทรก็ได้ อาการปลาทองเกล็ดตั้ง มีผลมาจากปริมาณน้ำที่มีแรงดันสูง เพราะฉะนั้นจะต้องลดปริมาณน้ำที่จะเข้าสู่ร่างกายปลา โดยนำเกลือใส่เข้าไปในน้ำในปริมาณ 1-3 กรัมต่อ 1 ลิตร หรือถ้าอาการเริ่มรุนแรงก็สามารถใช้ได้ไม่เกิน 5 กรัมต่อ 1 ลิตร
  • ด่างทับทิม ด่างทับทิมเป็นเกลือชนิดหนึ่ง โดยมีฤทธิ์เป็นด่างอ่อน ๆ มีสรรพคุณช่วยฆ่าเชื้อโรคและแบคทีเรียที่เกาะอยู่บนตัวปลา โดยวิธีการใช้คือ ผสมด่างทับทิมกับน้ำสะอาด จนน้ำเป็นสีชมพูอ่อนเท่านั้น หากผสมจนเข้มเกินไปก็จะทำให้ปลาทองตายได้ ใช้ล้างทำความสะอาดตัวปลาเท่านั้น ไม่ต้องแช่ นอกจากนี้ยังสามารถใช้ล้างทำความสะอาดตู้ปลาและอุปกรณ์ตกแต่งตู้ปลาเพื่อฆ่าเชื้อโรคได้ด้วย

ใบหูกวางตากแห้ง

  • ใบหูกวาง ใบหูกวางตากแห้ง ช่วยรักษาอาการเกล็ดตั้งเกล็ดพองในปลาสวยงามได้ เพราะในใบหูกวางนั้นมีส่วนประกอบของสารแทนนิน เป็นสารที่ช่วยลดความเครียดในปลา นอกจากนี้ยังช่วยกำจัดเชื้อโรค แบคทีเรียอีกด้วย โดยขั้นตอนการทำน้ำที่สกัดจากใบหูกวางนั้น ทำได้โดยการนำใบหูกวางไปตากแห้งหรืออบที่อุณหภูมิ 40-50 องศา จากนั้นหมักใบหูกวางกับตัวทำละลาย ได้แก่ น้ำ เอทิลแอลกอฮอล์ 70% และ เอทิลแอลกอฮอล์ 95% หมักไว้ในภาชนะปิดทิ้งไว้ 3 วัน จากนั้นนำมาสกัดจนกลายเป็นผง แล้วก็สามารถนำมาผสมใส่น้ำที่ใช้รักษาเจ้าปลาทองได้เลย แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการวิจัยที่ยืนยันว่าใบหูกวางสามารถรักษาโรคของปลาทองได้ 100% สามารถใช้รักษาได้ในอาการเบื้องต้นเท่านั้น
  • ยาเหลืองและอะม็อกซี่ซีลิน ใส่ยาอะม็อกซี่ซีลิน 500 มิลลิกรัม ต่อน้ำ 16 ลิตร หรือ 2 แคปซูล ตามด้วยยาเหลือง 3 หยด หรือตามปริมาณที่กำกับไว้ที่ฉลากข้างขวดยา โดยต้องควบคุมให้อยู่ใปริมาณที่พอเหมาะ  ควรเปลี่ยนถ่ายน้ำทุก ๆ วัน วันละ 30-40% และใส่ยาในปริมาณเดิม ตลอด 7-10 วันหรือจนกว่าปลาทองจะหายดี

ทุกครั้งที่ต้องแยกปลาทองที่ป่วยออกมารักษา จะต้องเตรียมน้ำใส่ภาชนะให้ดี ควรใช้ภาชนะที่มีขนาดกลาง เช่น ตู้ หรืออ่าง ที่จะสามารถเปลี่ยนถ่ายน้ำได้ง่ายและสะดวก หากเล็กไปก็จะทำให้ปลาเกิดอาการเครียด หรือถ้าใหญ่ไปก็จะทำให้เรานั้นเปลี่ยนถ่ายน้ำไม่สะดวก และที่สำคัญเลยคือควรเตรียมออกซิเจนให้พร้อม อาจจะเพิ่มระดับความแรงขึ้นมากว่าปกติแต่อย่าให้รุนแรงจนกระทบกับตัวปลา ปลาทองเกล็ดตั้ง เป็นอาการที่พบได้ทั่วไปในปลาทอง ถึงแม้จะรักษาหายแล้ว แต่ก็สามารถกลับมาเป็นได้อีก เพราะฉะนั้น เจ้าของควรหมั่นสังเกตอาการของปลาทองอย่างใกล้ชิด หากเกิดอาการป่วยขึ้นมาจะได้สามารถรักษาได้อย่างทันท่วงทีนั่นเอง