ปลาทองหงายท้อง

ปลาทองหงายท้อง เกิดจากอะไร!? และต้องทำอย่างไรบ้าง

สำหรับมือใหม่ที่เลี้ยงปลาทอง เมื่อเห็นปลาทองหงายท้อง คงจะทำให้ตกอกตกใจกันมากเลยทีเดียว หรือบางคนอาจจะคิดว่าปลาทองของตัวเองนั้นตายไปแล้วก็ได้ แต่ที่จริงแล้วอาการของปลาทองที่นอนหงายท้องอยู่ในน้ำนั้น คืออาการของโรคชนิดหนึ่ง ที่คุณสามารถรักษาให้สัตว์เลี้ยงตัวโปรดของคุณหายจากอาการนี้ได้ ไปดูกันเลยว่าโรคนี้คืออะไร สาเหตุของโรคเกิดจากอะไร และมีวิธีรักษาอย่างไรบ้าง

ทำความรู้จักโรคปลาทองหงายท้อง รู้ก่อน รักษาได้ก่อน

ปลาทองหงายท้อง

หากคุณเห็นว่าปลาทองหงายท้อง ให้สันนิษฐานได้เลยว่า เจ้าสัตว์เลี้ยงตัวโปรดของคุณนั้นเป็นโรคปลาหงายท้องแล้ว โดยโรคนี้จะมีระดับความรุนแรงตั้งแต่น้อยไปถึงมาก ที่คุณสามารถรักษาเองได้ หรือต้องพาเจ้าปลาทองไปพบสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ดังนั้น ก่อนอื่น คุณจึงควรทำความรู้จักกับโรคนี้ก่อน เพื่อให้สามารถสังเกตอาการของสัตว์เลี้ยงได้อย่างใกล้ชิด และสามารถประเมินได้ว่าต้องทำอย่างไรบ้าง

โรคปลาหงายท้อง เป็นโรคที่ทำให้ปลาทองไม่สามารถว่ายน้ำได้ตามปกติ และทำให้ถุงลมอักเสบ ซึ่งปลาทองมีโอกาสป่วยเป็นโรคปลาหงายท้องได้ง่ายอยู่แล้ว เนื่องจากปลาทองเป็นปลาที่มีลำตัวอ้วนกลม และสั้น ทำให้อวัยวะภายในเบียดบังกันได้ง่าย เมื่อเกิดความผิดปกติที่อวัยวะใดอวัยวะหนึ่ง ก็จะทำให้ส่งผลกับถุงลมได้ไม่ยากนั่นเอง ซึ่งโรคปลาหงายท้อง ก็เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดยสาเหตุหลัก ๆ นั้น ได้แก่

  • อาการอาหารไม่ย่อย หรือมีก๊าซในกระเพาะอาหาร
  • เกิดการอักเสบ หรือตีบตันของถุงลม
  • ถูกทำร้ายจากปลาทองตัวอื่นในตู้ หรือได้รับการบาดเจ็บ จากการกระทบกระแทกแรง ๆ
  • การติดเชื้อจากแบคทีเรีย ปรสิต หรือเชื้อโรคอื่น ๆ
  • ซีสต์ หรือความผิดปกติของอวัยวะภายในของปลาทอง ที่ส่งผลกระทบกับถุงลม
  • การกินอาหารมากจนเกินไป
  • อายุของปลาทองที่มากแล้ว
  • การกลืนอากาศเข้าไปในกระเพาะอาหารมากเกินไป ขณะกินอาหาร ทำให้กระเพาะอาหารขยายตัวผิดปกติ
  • อวัยวะภายในของปลาทอง เกิดการผิดรูป

ปลาทองหงายท้อง เป็นอะไร

โรคนี้จะทำให้เจ้าปลาทองมีอาการสูญเสียการทรงตัว และเกิดอาการถุงลมอักเสบ โดยสังเกตอาการได้ง่าย ๆ เลย คือ

  • เจ้าปลาทองจะนอนหงายท้อง และลอยตัวนิ่ง ๆ อยู่เหนือผิวน้ำ ไม่ขยับตัวไปไหน
  • ขณะที่ปลาทองของคุณแหวกว่ายอยู่ในน้ำ จะสังเกตเห็นได้ชัดว่า ส่วนหางจะยกขึ้นสูงกว่าส่วนหัว หรือลักษณะเหมือนว่ายน้ำแล้วหัวทิ่มนั่นเอง
  • ปลาทองจะนอนจมอยู่ที่ก้นตู้เลี้ยงปลา
  • ปลาทองจะมีท้องที่บวม หรือโตผิดปกติ
  • สูญเสียการทรงตัวอย่างเห็นได้ชัด โดยลักษณะการว่ายน้ำจะไม่เหมือนปกติ

ในส่วนของการดูระดับความรุนแรงของโรคนั้น หากคุณสังเกตเห็นได้แล้วว่าปลาทองหงายท้องอยู่ในตู้ ก็ให้สังเกตต่ออย่างใกล้ชิด ว่าถ้าหากปลาทองของคุณเพิ่งเริ่มมีอาการนอนหงายท้อง, เพิ่งสูญเสียการทรงตัวได้ไม่นาน และหมุนตัวตีลังกา จนสามารถกลับมาว่ายน้ำในท่าปกติได้ แสดงให้เห็นว่าปลาทองของคุณเพิ่งมีอาการแรกเริ่ม และคุณสามารถรักษาให้หายด้วยตัวเองได้

ปลาทองหงายท้องทุกตัว จะมีสภาพร่างกายที่อ่อนแอ เนื่องจากอวัยวะภายในที่เกิดการอักเสบ ติดเชื้อ และเบียดบังกัน ส่งผลให้เจ้าปลาทองของคุณไม่สามารถกินอาหารเองได้เหมือนเคย คุณจะควรแยกปลาทองตัวที่ป่วยออกมาเพื่อทำการรักษา โดยมีวิธีการรักษาง่าย ๆ หากคุณทำตามแล้วรับรองว่าอาการปลาทองของคุณจะดีขึ้นอย่างแน่นอน

  • เตรียมตู้ หรืออ่างสำหรับรักษาปลาทองโดยเฉพาะ ใส่น้ำในปริมาณที่ไม่ลึกมาก เพื่อให้ปลาทองของคุณว่ายน้ำได้สะดวก
  • ใช้ปั๊มออกซิเจน เพื่อเพิ่มออกซิเจนให้ปลาทองได้เพียงพอ
  • ใช้ยารักษาปลาหงายท้อง ซึ่งจะมีให้เลือกหลากหลายแบบ โดยจะเป็นการช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และลดการอักเสบได้ดีนั่นเอง
  • งดการให้อาหารจนกว่าปลาทองของคุณจะเริ่มทรงตัวได้ดีขึ้น เพื่อให้กระเพาะอาหารและถุงลมดีขึ้นก่อน
  • หมั่นปรับสภาพน้ำด้วยเกลือสมุทรเล็กน้อย และเปลี่ยนน้ำ เพื่อความสะอาดด้วย

ส่วนอาการที่มีระดับความรุนแรงมาก ก็คือ การนอนหงายท้องนิ่งอยู่บนผิวน้ำ การนอนจมอยู่ที่ก้นตู้ หรือการไม่ขยับตัวเป็นเวลานาน นั่นแสดงให้เห็นว่าปลาทองของคุณเป็นโรคนี้มานานแล้ว หากปล่อยไว้นานอาจทำให้ปลาทองของคุณตายได้ จึงควรรีบพาไปพบสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับสัตว์น้ำโดยตรง เพื่อให้ช่วยประเมินอาการ สาเหตุที่แท้จริง และช่วยให้การรักษาที่ดีที่สุด

หวังว่าบทความของเราจะช่วยทำให้คุณสบายใจขึ้น และหาวิธีรักษาปลาทองของคุณได้อย่างถูกต้อง สุดท้ายนี้เพื่อป้องกันไม่ให้ปลาทองหงายท้อง ไม่ว่าปลาทองของคุณจะหายจากโรคปลาหงายท้องแล้ว หรือยังไม่เคยเป็นโรคนี้เลยก็ตาม สิ่งที่คุณควรทำอย่างสม่ำเสมอเลย ก็คือ การรักษาคุณภาพและความสะอาดของน้ำ และการให้อาหารที่เป็นเวลา ในปริมาณที่เหมาะสม เพียงสองสิ่งนี้ ก็จะช่วยลดโอกาสการเกิดโรคนี้ได้มากแล้ว