ปลาทองเกล็ดพอง เป็นอีกหนึ่งโรคร้ายของปลาทองที่ควรระมัดระวังไม่ให้เกิด ซึ่งโรคต่าง ๆ ของปลาทองนั้นเกิดจากแบคทีเรีย Aeromonas hydrophila ที่สามารถทำให้เกิดโรคได้ ลักษณะของปลาทองเกล็ดพอง คือ บริเวณเกล็ดของปลาทองนั้นจะเริ่มมีอาการบวมและอ้าออก และมีอาการช้ำเลือดร่วมด้วย มีเมือกสีขาวหรือสีดำเกาะติดออกมาบริเวณเกล็ดก่อนที่จะพองออก อาการเกล็ดพองนั้นเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Aeromonas hydrophila ทำให้ใต้ฐานเกล็ดเริ่มมีการอักเสบ และยังส่งผลให้ไตของปลาทองอักเสบอีกด้วย ทำให้เกล็ดของปลาทองนั้นอ้าออกไม่แนบสนิทกับลำตัว ถ้าหากไม่รีบรักษาในระยะแรกเริ่มก็อาจจะทำให้ติดเชื้อเรื้อรังและทำให้ปลาตายได้
โดยอาการปลาทองเกล็ดพองที่สังเกตได้ชัดเลย คือ บริเวณปลายหางไปจนถึงครีบจะมีลักษณะเปื่อยยุ่ยเป็นสีขาว ๆ บางทีก็มีเมือกขาวไหลออกมา มีอาการเซื่องซึม ไม่ยอมกินอาหาร ว่ายน้ำช้าหรือบางทีก็ไม่ว่าย ปล่อยตัวลอยช้า ๆ อยู่แบบนั้น มักจะจมลงก้นตู้บ่อยและชอบหลบเข้ามุม แต่อาการเริ่มต้นของโรคเกล็ดพองนั้นจะสังเกตได้ยาก เพราะระยะแรกเริ่มปลาทองจะมีความอ้วนท้วนสมบูรณ์ดี แต่วิธีการสังเกตคือ ให้สังเกตที่ลำตัวของปลา เพราะปลาที่สุขภาพจะมีเกล็ดที่เรียงตัวกันสวยงามและสม่ำเสมอ เป็นระเบียบ สามารถปกคลุมผิวหนังของปลาได้ แต่ถ้าหากว่าปลาทองเริ่มมีอาการป่วย เกล็ดของปลาทองนั้นจะอ้าและพองออก ไม่เรียงตัวกัน คอยสังเกตให้ดีถ้าหากปลาเริ่มว่ายไม่ตรงและจมลงก้นตู้บ่อยครั้งแสดงว่าเริ่มมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับตัวปลาแล้ว
วิธีการรักษาและดูแลปลาทองเกล็ดพองที่ถูกต้อง
นอกจากแบคทีเรีย Aeromonas hydrophila จะเป็นสาเหตุการเกิดอาการปลาทองเกล็ดพองแล้ว ก็ยังมีสาเหตุอื่น ๆอีก ไม่ว่าจะเป็นการให้อาหารในปริมาณมากเกินไป คุณภาพน้ำไม่ดี สกปรกและเน่าเสีย ซึ่งมีโอกาสเกิดการติดเชื้อในลำไส้ปลาได้และมีอาการป่วยอื่น ๆ อีกมากมายแทรกด้วย ซึ่งการรักษาอาการปลาทองเกล็ดพองจะต้องรีบรักษาในการแรกเริ่ม โดยทำได้ดังนี้
- เตรียมน้ำสะอาดใส่ในภาชนะแยกไว้ ใช้อ่างหรือกะละมังจะสะดวกในการถ่ายน้ำมากกว่า โดยเติมน้ำในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่มากไม่น้อยจนเกินไปให้ระดับน้ำสูงกว่าตัวปลานิดหน่อย เพื่อที่ปลาจะได้รับแรงดันอากาศได้และว่ายน้ำได้สะดวกขึ้น
- เปิดออกซิเจนให้แรงกว่าปกติในระหว่างการรักษาและพักฟื้นปลา เพราะออกซิเจนนั้นสำคัญที่สุดหากขาดออกซิเจนแล้วอาจำทำให้ปลาตายได้ก่อนทำการรักษา แต่ต้องคอยระวังไม่ให้ออกซิเจนกระทบกับตัวปลาแรงเกินไป
- ใช้เกลือสมุทร ปรับสภาพน้ำเล็กน้อย โดยใส่เกลือลงไปในน้ำสะอาดประมาณ 1/2 ช้อนชา ต่อน้ำ 2 ลิตรเท่านั้น ไม่ควรใส่ในปริมาณมากเกินไปเด็ดขาด
- ใช้ยารักษาปลาทอง สำหรับการใช้ยารักษาปลาทอง จะสามารถใช้ได้ 2 ประเภท ได้แก่ ยารักษาปลาโดยตรงและยาฆ่าปฏิชีวนะที่ใช้กับมนุษย์ ทั้งสองตัวยานี้มีลักษณะและสรรพคุณที่คล้ายกัน หากไม่สามารถหายาสำหรับรักษาปลาโดยตรงได้ทันเวลาก็สามารถใช้ยาปฏิชีวนะสำหรับมนุษย์แทนได้ แต่ถ้าหากเทียบกันแล้ว ยาที่ใช้สำหรับปลาโดยตรงจะส่งผลดีกว่า เพราะเป็นแบบผงที่สามารถละลายน้ำได้ดีกว่า ลดการเกิดการเน่าเสียในน้ำ และไม่มีส่วนประกอบอื่น ๆ ที่ไม่จำเป็นสำหรับปลาอีกด้วย
- ยาเหลือง เป็นยาที่ใช้สำหรับรักษาปลาแบบโดยตรง โดยตัวยาจะมีลักษณะเป็นผง ให้นำยาเหลืองมาผสมกับน้ำและใส่ไว้ในขวดแยกต่างหากก่อน ให้ผสมจนเป็นสีเหลืองเข้ม จากนั้นค่อยเทลงไปผสมกับน้ำที่เตรียมไว้ในภาชนะอีกทีให้น้ำในภาชนะนั้นมีสีเหลืองใสไม่เข้มจนเกินไป หลังจากนั้นให้ใส่ปลาทองที่ป่วยลงไป และหมั่นสังเกตอาการอย่างสม่ำเสมอ คอยถ่ายน้ำออกเล็กน้อยทุกวันเพื่อคงสภาพน้ำที่ดีไว้
ในระหว่างที่ปลาทองอยู่ในระหว่างการรักษาอาการป่วยและอยู่ในช่วงกาารพักฟื้นนั้น ปลาจะกินอาหารน้อยลง เพราะฉะนั้น ควรลดปริมาณอาหารลงเพื่อที่อาหารจะได้ไม่ลอยทิ้งอยู่ในน้ำ เป็นการส่งผลให้น้ำนั้นเน่าเสีย สกปรก และข้อสำคัญเลยคือ หมั่นนำอ่างที่ใช้พักฟื้นปลา ออกมารับแสงแดดในตอนเช้าเพื่อเป็นการกระตุ้นระบบไหลเวียนในตัวปลาและทำให้ปลาฟื้นตัวได้ไวขึ้น อาการปลาทองเกล็ดพอง สามารถรักษาได้ด้วยตนเองง่าย ๆ แต่อย่างไรก็ตามก็ควรจะรักษาในอาการแรกเริ่มจะดีที่สุด