ปลาทองเกล็ดแก้วเป็นสายพันธุ์ปลาทองที่มีลักษณะสวยงามเป็นเอกลักษณ์ เนื่องจากมีเกล็ดที่ปูดออกมาทุกเกล็ด แถมยังเป็นสายพันธุ์ที่เพาะพันธุ์โดยคนไทยอีกด้วย โดยปกติแล้วจะเป็นปลาทองที่ค่อนข้างอดทนและแข็งแรง แต่ก็มีความไวต่ออุณหภูมิของน้ำ จึงมีโอกาสป่วยจากโรคทั่วไปที่มักเกิดขึ้นกับปลาทองทุก ๆ สายพันธุ์ หากสังเกตอาการผิดปกติของเขาได้เร็ว ก็จะรักษาได้ทันเวลา และรู้แนวทางในการดูแลให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น
อาการป่วยของปลาทองเกล็ดแก้ว รู้แล้วแก้ไขได้ไม่ยาก
ปลาทองเกล็ดแก้วเป็นปลาทองอีกสายพันธุ์หนึ่งที่หากได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี ก็จะมีอายุยืนนานได้ถึงหลักสิบปีเลยทีเดียว มีขนาดใหญ่ได้มากที่สุดประมาณ 4 นิ้ว หากจะถามว่าเป็นสายพันธุ์ที่เลี้ยงยากไหมสำหรับมือใหม่หัดเลี้ยงปลาทอง ก็ไม่ใช่สายพันธุ์ที่เลี้ยงยากจนเกินไป เพียงแต่ต้องอาศัยความช่างสังเกตและความใส่ใจเขาสักหน่อย และโรคดังต่อไปนี้เป็นโรคที่มักเกิดขึ้นบ่อย ๆ กับปลาทองที่สามารถสังเกตได้และสามารถรักษาได้หากทำอย่างถูกวิธี
- โรคจุดขาว
โรคจุดขาวเป็นหนึ่งในโรคที่พบได้มากในปลาทอง รวมถึงปลาทองเกล็ดแก้วด้วย ยิ่งมีเกล็ดที่เด่นกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ อาการของโรคจุดขาวก็จะยิ่งสังเกตได้ชัด โรคจุดขาวเกิดจากปรสิตตัวเล็ก ๆ ชนิดหนึ่งบนตัวของปลาทอง มักพบได้ในน้ำเค็มหรือน้ำในบ่อขนาดใหญ่ แต่ปรสิตชนิดนี้จะโจมตีได้เฉพาะปลาที่อ่อนแอหรือปลาที่มีความเครียดเท่านั้น ปลาที่มีสุขภาพแข็งแรงดีก็จะเสี่ยงเป็นโรคจุดขาวน้อยกว่า วิธีสังเกตว่าปลาทองเกล็ดแก้วจะเป็นโรคจุดขาวหรือไม่ ให้ดูว่าน้องมีพฤติกรรมชอบว่ายไปถูตัวกับวัตถุหรือพื้นผิวในตู้หรือเปล่า เพราะปรสิตอยู่บนตัวทั้งบริเวณเหงือก เกล็ด และครีบ ทำให้เกิดอาการคัน หากปล่อยไว้ก็จะมีจุดสีขาวขึ้นตามจุดต่าง ๆ บนตัว วิธีรักษาคือใช้ยาสำหรับรักษาโรคจุดขาวในปลาตามร้านขายปลาทั่วไป
- อาการติดเชื้อจากแบคทีเรีย
นอกจากโรคจุดขาวแล้ว ปลาทองเกล็ดแก้วที่สุขภาพไม่ค่อยแข็งแรงและมีความเครียดยังเสี่ยงกับการติดเชื้อจากแบคทีเรียด้วยเช่นกัน โดยอาการติดเชื้อนั้นมีหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นมีจุดแดงลักษณะไม่ปกติขึ้นตามลำตัว มีแผล ว่ายน้ำช้าอย่างเซื่องซึม กินน้อยลงหรือไม่กินเลย บางตัวหากมีอาการรุนแรงมากขึ้นเกล็ดจะเริ่มหลุด ท่าทางการหายใจของน้องจะดูผิดปกติไป ดูหายใจลำบากกว่าเดิม ว่ายขึ้นมาฮุบอากาศเหนือน้ำบ่อยผิดปกติ ครีบเสียหาย จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการใช้ยาต้านแบคทีเรีย ซึ่งสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายปลาหรือร้านผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง โดยเลือกยาที่เหมาะสมกับปลาทองก็จะช่วยได้
- โรคพยาธิ
มีพยาธิหลายชนิดที่สามารถก่อโรคให้กับปลาทองได้ ไม่ว่าจะเป็นพยาธิสมอ เหาปลา หรือพยาธิใบไม้ ซึ่งพยาธิพวกนี้มีที่มาจากอาหารสดของปลาทองนั่นเอง นอกจากนี้อาจมาจากพืชน้ำที่ใช้ประดับตู้ปลา หรือปลาตัวใหม่ที่นำมาเลี้ยงร่วมกันก็ได้ วีป้องกันคือตรวจสอบแหล่งที่มาของสิ่งที่เราจะนำมาใส่ในตู้ปลาเสมอ หรือเมื่อได้ปลาตัวใหม่ พืชประดับต้นใหม่ อาหารสด ให้เก็บไว้ดูแยกไว้อีกตู้หนึ่งก่อนอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพื่อดูว่ามีพยาธิหรือไม่ หากมั่นใจแล้วว่าปลอดภัยไร้พยาธิจึงค่อยนำไปใส่ในตู้ปลารวมกับปลาทองเกล็ดแก้วที่เลี้ยงอยู่ แต่ถ้าหากมีอาการที่สงสัยว่าจะมีพยาธิแล้ว เช่น ไม่อยากอาหาร ทรงตัวไม่ดีจนหงายท้อง ให้แยกตัวที่มีพยาธิออกจากตัวอื่น ๆ เพื่อทำการรักษา ถ้าเป็นคนมือเบาจะคีบเอาพยาธิออกเองก็ได้ แต่ถ้าไม่มั่นใจพาน้องไปหาหมอให้หมอช่วยรักษาดีกว่า
- อาการอื่น ๆ ที่ควรรู้
นอกจากนี้ยังมีอาการอื่น ๆ ที่สามารถสังเกตได้ ได้แก่ การว่ายน้ำเร็วผิดปกติ ดูตื่นตระหนกสั่นกระตุกตลอดเวลา ขับเมือกลักษณะคล้าย ๆ วุ้นออกมา ว่ายน้ำแบบหมุดตีลังกา เดี๋ยวพุ่งขึ้นเดี๋ยวดำลง เหงือกบวมแดง เกล็ดตั้งชัน ตาเป็นฝ้าหรือจุดขาว มีอาการตกเลือด ไปจนถึงมีสิ่งแปลกปลอมที่ไม่น่าจะมีเกาะอยู่ตามลำตัว เมื่อเห็นสัญญาณของอาการเหล่านี้แม้เพียงเล็กน้อย ให้หาวิธีรักษาอย่างเหมาะสมกับอาการก่อนที่จะมีอาการรุนแรง โดยปรึกษากับคนเลี้ยงที่มีความรู้หรือสัตวแพทย์ที่รักษาปลาได้
ปลาทองเกล็ดแก้วไม่ต่างจากปลาทองสายพันธุ์อื่นนักเรื่องการดูแลเอาใจใส่ หากได้รับอาหารที่มีคุณภาพอย่างเพียงพอ อยู่ในน้ำสะอาด สภาพแวดล้อมเหมาะสม ก็จะทำให้ปลามีสุขภาพแข็งแรง ไม่เจ็บป่วยง่าย มือใหม่อาจไม่ทราบว่าอาการใดบ้างที่เป็นความผิดปกติ แต่ถ้าหมั่นสังเกตและหาความรู้อยู่เสมอก็จะทำให้ปลามีสุขภาพแข็งแรงและอยู่ได้นาน