ปลาทองรันชู

มารู้จักปลาทองรันชู ปลาสวยงามอีกสายพันธุ์ที่นิยมนำไปประกวดมากที่สุด

ปลาทองจัดว่าเป็นปลาสวยงามที่มีผู้คนนิยมเลี้ยงกันอย่างแพร่หลายมานานแล้วตั้งแต่ในสมัยอดีต และปลาทองรันชูก็ถือได้ว่าเป็นอีกปลาสวยงามสายพันธุ์หนึ่งที่มีมูลค่าการส่งออกในอันดับต้น ๆ และยังเป็นปลาที่นักเลี้ยงปลาสวยงามนำไปประกวดอวดโฉมกันหลายเวทีอีกด้วย ซึ่งเสน่ห์ของปลาทองสายพันธุ์นี้ ไม่ว่าจะมองมุมบนหรือมุมข้างก็น่าหลงใหล และมีสีสันสวยเด่นสะดุดตายิ่งนัก

รวมเรื่องปลาทองรันชูน่ารู้ และการพัฒนาสายพันธุ์

ปลาทองรันชู

ปลาทองชนิดนี้ถูกพัฒนาสายพันธุ์มาจากปลาทองหัวสิงห์ของญี่ปุ่นเมื่อประมาณ ปี ค.ศ. 1700 จนได้สายพันธุ์ที่แตกต่างจากสิงห์ญี่ปุ่น และได้ถูกขนานนามชื่อใหม่ว่า “รันจู” หรือ “รันชู” หากเป็นนักเลี้ยงปลาทองมือใหม่คงจะแยกไม่ออกและสับสนว่าเป็นปลาทองสิงห์ญี่ปุ่น เพราะมีลักษณะคล้ายกันมาก แต่จะมีความแตกต่างกันตรงที่ลำตัวอ้วนหนากว่า ท้วมสมบูรณ์ ช่วงหลังจะมีความโค้งลาดลงได้สัดส่วน และไม่มีครีบหลัง ส่วนลักษณะเด่นของปลาทองรันชูมีดังนี้

  1. สำหรับเกณฑ์ที่ใช้ตัดสินว่าปลาทองพันธุ์นี้มีความสวยงามถูกต้องตามแบบที่พัฒนานั้น จะดูกันที่รูปทรงและความสมดุลของลำตัวเป็นอันดับแรก คือ เมื่อมองจากด้านบนแล้วหัวไม่โตไปกว่าตัว แต่จะให้อ้วนมากไปนักก็ดูไม่งาม ฉะนั้นจะต้องพิจารณาลำตัวควบคู่กับโคนหางด้วย ซึ่งหากมีลำตัวหนา ตัวใหญ่แล้ว โคนหางจะต้องใหญ่ตามไปด้วย หากมีโคนหางเล็ก กรรมการจะตัดคะแนนออกทันที ส่วนครีบตรงก้นหรือทวารนั้นจะต้องมี จะมีคู่หรือเดี่ยวก็ได้ และต้องมีครีบอก ครีบท้องอย่างละคู่ที่มีขนาดเท่ากัน
  2. ความสง่ามีราศีของปลานั้นต้องเด่นชัด ในเรื่องของเกล็ดและสีที่มีการเรียงตัวเป็นแนวเดียวกันไม่กระจัดกระจาย ส่วนเกล็ดนั้นจะต้องมีความแวววาว สะท้อนแสงไม่ว่าตัวปลานั้นจะมีสีขาวหรือสีแดงก็จะมีสีเข้ม สดใส ไม่หมองขุ่น และความสวยงามของหางนั้นจะต้องเป็นพวงหางที่เป็นพุ่มที่สวยงาม มีสามแฉกหรือสี่แฉก มีการยกมุมของหางไม่เกิน 45 องศา ไม่ลีบแบน

    ปลาทองรันชู ลักษณะ

  3. ท่าทางการว่ายน้ำของปลาทองรันชูจะต้องมีลีลาการเคลื่อนตัวที่พลิ้วไหว ปราดเปรียว มีการสะบัดสะโพกในการเคลื่อนไหวในน้ำที่สวยงาม ไม่ว่ายช้าจนดูอืดอาด หรือมีการว่ายน้ำที่แปลก ๆ เพราะการว่ายน้ำที่มีการเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง นั่นบ่งบอกถึงสุขภาพของปลาที่ป่วย หรือเกิดความผิดปกติเกี่ยวกับถุงลม
  4. มีสีและลวดลายที่ได้มาตรฐานตามลักษณะเด่นของทั้ง 14 ลวดลาย เช่น หากเป็นลวดลายฮิโนะมารุ จะมีลำตัวสีขาวและมีวงกลมสีแดงวงใหญ่ตรงกลางหลังเด่นชัด มีสง่าเหมือนดังพระอาทิตย์ หรือหากเป็นลายโคมาโดะ ลำตัวจะมีสีแดง โคนหางและหางจะเป็นสีขาว ส่วนบนหัวจะปรากฏจุดสีแดงเล็ก ๆ เด่นชัดราวกับมีใครมาแต้มจุดไว้
  5. สำหรับวุ้นบนหัวปลาทองรันชูนั้นจะไม่กำหนดลักษณะที่แน่นอน อาจจะดูหนาเยอะหรือน้อยกว่านั้นก็ได้ แต่เมื่อมองแล้วจะต้องมีความกลมกลืนไปกับช่วงลำตัวปลา และยิ่งโตเต็มวัยแล้วหัววุ้นจะต้องหนาปิดหุ้มบนส่วนหัว ทั้งเหงือก ข้างแก้มคลุมไปจนถึงริมฝีปาก แต่จะต้องไม่เป็นลักษณะเดียวกันกับปลาทองชิชิ คาชิระ หรือปลาทองหัวสิงห์จีน คือ มีส่วนตัวที่ใหญ่กว่าลำตัวมาก และมีส่วนวุ้นหนามากตรงกลางหัว

นี้คือความรู้เบื้องต้นคร่าว ๆ สำหรับการแยกลักษณะของปลาทองรันชูกับปลาทองสายพันธุ์ชนิดอื่น ๆ ที่มีความคล้ายคลึงกัน สำหรับมือใหม่ที่อยากเริ่มต้นเลี้ยงปลาทองสายพันธุ์นี้ แม้ว่าจะได้ตัวปลาที่มีลักษณะเด่นเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่ดีมาครอบครอง แต่ใช่ว่าหากเลี้ยงเพื่อเพาะพันธุ์แล้วจะได้ลักษณะดีตรงตามของพ่อกับแม่ได้ ทั้งนี้ปัจจัยในการเลี้ยงดูน้องปลาชนิดนี้ ขึ้นอยู่กับสถานที่เลี้ยง อากาศที่ถ่ายเทสะดวก ระบบการกรองน้ำที่สะอาด รวมไปถึงอาหารที่ใช้เลี้ยงในแต่ละช่วงวัย และการได้รับแสงแดดส่องถึงในแต่ละวันอีกด้วย