แม้การเลี้ยงปลาสวยงามจะมีพื้นที่จำกัดอยู่แค่ในตู้ปลาหรืออ่างเลี้ยง ซึ่งทำให้ผู้เลี้ยงหลายคนเข้าใจผิดคิดว่าแค่ให้อาหารในปริมาณที่เหมาะสม หรือการดูแลเรื่องระบบน้ำให้สะอาดอยู่เป็นประจำ รวมไปถึงการดูแลเรื่องออกซิเจนให้น้ำหมุนเวียนตลอดแล้วจะทำให้ไม่เกิดโรคปลาทองเป็นเชื้อรานั่นเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะไม่ว่าจะฤดูไหนหากมีการละเลยการเลี้ยงดูแม้แต่น้อย ก็อาจพลาดทำให้ปลาทองป่วยง่ายได้เช่นกัน
ยิ่งหากเป็นปลาทองที่เลี้ยงมานานแล้วมีอายุมากแล้ว ใช่ว่าร่างกายจะแข็งแรงอยู่ยืนยาวตามอายุขัย เพราะปลาทองที่อายุเกิน 1 ปีไปแล้ว จะพบเจอกับปัญหาเรื่องอวัยวะภายในร่างกายขยายตัว โดยเฉพาะถุงลมปลาทองที่เป็นอวัยวะสำคัญในการหายใจและการทรงตัวของปลา
ส่วนเบื้องต้นในการสังเกตุว่าปลาทองป่วย หรือปลาทองเป็นเชื้อราหรือไม่นั้น มีวิธีสังเกตได้หลายอาการ อย่างเช่น ลักษณะของการเคลื่อนไหวในน้ำ ที่ว่ายจมอยู่เพียงก้นอ่างหรือว่ายวนอยู่บนผิวน้ำ และอาการเซื่องซึม หรือว่ายเสียดสีกับตู้ปลา นอกจากนี้แล้วผู้เลี้ยงยังสามารถสังเกตไปที่ตัวปลาทองได้ว่ามีเหงือกบวมแดง เลือดออกตามเกล็ด และลำตัวมีสีซีดจางไปกว่าเดิมหรือไม่ เพราะถ้าหากมีลักษณะเข้าข่ายอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่กล่าวมานี้ ให้สันนิษฐานได้เลยว่าน้องปลามีความผิดปกติหรือป่วยเป็นโรคแล้ว ต้องรีบจัดการรักษาทันที
โรคเชื้อราในปลาทองและการรักษา
โรคปลาทองเป็นเชื้อรา โรคจุดขาว และโรคหนอนสมอ จะมีลักษณะอาการคล้ายกันในเบื้องต้น ซึ่งมีวิธีแยกสังเกตดังนี้คือ
โรคหนอนสมอ ปลาทองจะมีอาการซึมลงอย่างเห็นได้ชัด และไม่ค่อยทานอาหารทำให้ผอมแห้งจนกระพุ้งแก้มเปิดอ้าออก ส่วนบริเวณครีบและปากจะมีรอยเป็นสีแดงช้ำ ซึ่งเกิดจากตัวเชื้อไวรัสที่ถือว่าเกิดขึ้นได้ง่ายกับปลาน้ำจืดทุกชนิด ตัวหนอนสมอนี้จะฝังอยู่ในเนื้อเยื่อผิวปลา และมักจะแฝงมากับแหล่งน้ำธรรมชาติหรือลูกน้ำ
โรคจุดขาว จะเกิดขึ้นตามลำตัว ครีบ เหงือกของปลาทอง โดยจะแสดงเป็นจุดขาวเล็ก ๆ ขนาด 0.5-1.00 มิลลิเมตร และหากไม่รักษาหรือไม่ได้สังเกตมาก่อนล่วงหน้า จุดขาวนี้จะเพิ่มจำนวนมากขึ้นจนเห็นได้ชัดเจน สาเหตุเกิดขึ้นจากเชื้อจุลินทรีย์ในน้ำขนาดเล็กที่มีชื่อว่า lchthyophthirius sp. จะเกิดขึ้นได้ง่ายกับปลาที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ซึ่งอาการนี้จะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิของน้ำอย่างเฉียบพลัน จึงควรที่จะหมั่นตรวจเช็คอุณหภูมิของน้ำให้อุ่นอยู่เสมอ
โรคปลาทองเป็นเชื้อรา จะมีลักษณะเด่นคือจะมีจุดคล้ายก้อนสำลีบาง ๆ เกาะอยู่ตามบริเวณผิวหรือปากปลาทอง และร้ายแรงมาก เพราะหากเป็นเยอะแล้วไม่รีบรักษาทันที จะทำให้ปลาทองตายได้ภายใน 1 อาทิตย์ ส่วนสาเหตุของเชื้อราตัวนี้ จะเกิดจากบาดแผลของปลาที่ถูกขีดข่วนอยู่แล้วผู้เลี้ยงไม่รู้ และไม่ได้รับการรักษา บวกกับน้ำในขณะนั้นมีเชื้อรา Saprolegniasis และ Achlyasis จึงทำให้เชื้อรานี้เกาะบริเวณแผลแล้วกัดกินลึกลงไปในเนื้อปลา จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ปลาตายได้ง่ายและเร็วขึ้น
สำหรับวิธีการป้องกันและรักษาเมื่อพบความผิดปกติแล้ว ให้ผู้เลี้ยงแยกปลาที่เป็นโรคนี้ออกมาไว้ต่างหากก่อน เพราะสามารถแพร่เชื้อรานี้สู่ปลาตัวอื่น ๆ ได้แม้ปลาทองตัวนั้นจะไม่เกิดรอยขีดข่วนใด ๆ มาก่อนก็ตาม
น้ำที่จะแช่ปลาไปนั้น ต้องเป็นน้ำเกลือ ซึ่งปริมาณถังแยกคือ น้ำ 10 ลิตร ให้เติมเกลือ 2 ขีด แล้วให้เช็ดเชื้อราออกด้วยสำลีนุ่ม ๆ ออกให้หมด และทายาด้วยความระมัดระวัง ไม่ให้น้องปลาเกิดความบอบช้ำ
สิ่งสำคัญในการแยกปลาทองเป็นเชื้อรามาไว้ในอ่างเดี่ยวนั้น ต้องไม่ใช่ระบบกรองน้ำ เพราะเชื้อโรคชอบไปฝังตัวอยู่ในระบบกรอง ส่วนการถ่ายน้ำควรถ่ายน้ำออก 50% ทุกวัน พร้อมกับทายาหรือเติมยาให้ทุกวัน และควรงดอาหารน้องปลาทองไปก่อนตลอดในช่วงที่รักษาตัว เนื่องจากไม่ใช่ระบบกรองน้ำ จะทำให้น้ำเน่าเสีย เมื่อปลาทองหายจากโรคเชื้อราแล้ว สามารถนำกลับมาเลี้ยงรวมกลับปลาตัวอื่นได้ แต่แนะนำให้ใส่ยาซ้ำ 4 ครั้งต่อ 1 อาทิตย์ เพื่อกำจัดเชื้อโรคให้สิ้นซาก