ต้นกำเนิดปลาคาร์ฟ

ย้อนดูต้นกำเนิดปลาคราฟ ตำนานปลาสวยงามกว่า 2,000 ปี

ปลาคราฟเป็นปลาน้ำจืดที่มีรูปร่างสวยงามและสีสันสดใส การเลี้ยงปลาคราฟนับว่าเป็นที่นิยมอย่างมาก เพราะนอกจากความสวยงามและมีสีสันแล้ว เจ้าปลาเหล่านี้ยังมีความหลากหลายของสายพันธุ์ด้วยซึ่งมีลักษณะแตกต่างกันออกไป ทำให้ผู้ที่สนใจสามารถเลือกเลี้ยงตามความชอบได้อย่างหลากหลาย นอกจากนี้การเลี้ยงปลาคราฟยังเป็นที่นิยมเลี้ยงเพื่อแข่งขันทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศอีกด้วย

แต่รู้หรือไม่? ปลาคราฟไม่ได้พึ่งเกิดและได้รับความนิยมในปีสองปีนี้ ความจริงแล้วเจ้าปลาชนิดนี้เป็นปลาที่มีอายุยาวนานมากกว่า 2,000 ปี! กันเลยทีเดียว ถือว่าเป็นปลาในตำนานที่ยังคงได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบันมากกว่า คาดว่าคงจะได้รับความนิยมต่อไปอีกยาวนานเช่นกัน

ย้อนเปิดตำนานต้นกำเนิดปลาคราฟ

ใครหลายคนอาจจะคาดเดาว่า ‘ปลาคราฟ’ มีการค้นพบหรือมีต้นกำเนิดครั้งแรกมาจากประเทศญี่ปุ่น แต่ความจริงแล้วไม่ใช่แบบนั้นเสียทีเดียว เพราะเจ้าปลาชนิดนี้มีการค้นพบผ่านภาพวาดเขียนในประเทศจีน ตอนยุคสมัยราชวงศ์โจว นับว่าเป็นหลักฐานที่มีอายุเก่าแก่ที่สุด ซึ่งหลักฐานชี้ให้เห็นว่าปลาชนิดนี้ต้องถูกค้นพบไม่ต่ำกว่า 2,000 ปีมาแล้ว

‘ปลาไน’ ถือว่าเป็นต้นตระกูลของเจ้าปลาคราฟอีกที โดยชาวจีนเป็นคนกลุ่มแรกที่รู้จักปลาชนิดนี้ ซึ่งในตอนนั้นชาวจีนนิยมเลี้ยงหรือจับปลาเหล่านี้มาเพื่อบริโภคเท่านั้น ปกติแล้วปลาไนจะมีเพียงสีดำเทา แต่เมื่อปีพ.ศ. 808-859 ได้พบว่าปลาไนได้เริ่มมีการกลายพันธุ์เป็นปลาคราฟ เพราะเจ้าปลาบางตัวมีสีส้มแทนที่จะเป็นสีดำเทาแบบเดิม คนจีนจึงเริ่มจับปลาสีสันสดใสมาเลี้ยงเพื่อความสวยงามแทน อีกทั้งยังเริ่มมีความเชื่อว่าการเลี้ยงปลาเหล่านี้ที่มีสีสันสวยงามจะช่วยนำโชค แถมเสริมฮวงจุ้ยด้วย

 

ปลาไน

ปลาไน

 

จากนั้นการเลี้ยงปลาคราฟก็ได้รับความนิยมเรื่อยมาจนมีการแพร่หลายไปในหลายประเทศ ซึ่งประเทศญี่ปุ่นก็เป็นอีกประเทศที่ให้ความสำคัญกับปลาไนหรือปลาคราฟเช่นกัน โดยเริ่มต้นที่เมือง ๆ หนึ่งที่ชื่อว่าโอจิยา(Ojiya) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่บนภูเขาและสัญจรค่อนข้างลำบากในสมัยก่อน การเลี้ยงปลาไนไว้เพื่อบริโภคจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ได้รับความนิยม เพราะถ้าหากหิมะตกก็จะได้ไม่ต้องดั้นด้นออกไปหาอาหาร ปลาไนจึงถูกเพาะเลี้ยงเรื่อยมา เพราะถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก

แต่หลังจากนั้นปลาไนก็มีการกลายพันธุ์เปลี่ยนสีคล้ายกันกับปลาไนของจีน ปลาไนสีดำเทากลายพันธุ์เป็นสีแดง มีการเปลี่ยนแปลงกลายไปเป็นปลาคราฟที่สวยงามแทน ชาวญี่ปุ่นก็เริ่มให้ความสนใจกับเจ้าปลาชนิดนี้มากขึ้น ไม่นานก็หันมาเลี้ยงปลาคราฟเพื่อความสวยงามเช่นกัน

ในปีพ.ศ.2493 ประเทศไทยมีการนำเข้าปลาคราฟมาจากประเทศญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก โดยทำการซื้อขายกันด้วยราคาที่แพงพอสมควร ปลาชนิดนี้จะได้รับความนิยมเลี้ยงเฉพาะกลุ่มของผู้ที่มีฐานะร่ำรวยเท่านั้น เนื่องจากวิธีการดูแลค่อนข้างละเอียดอ่อนด้วย พ่วงมาด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงตามไป แต่จากนั้นไม่นานพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล หรือพระองค์ชายใหญ่ ทรงนำเข้าปลาคราฟที่เป็นพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์มาจากญี่ปุ่น ภายใต้ชื่อ ‘ปลาอมรินทร์’

ความนิยมในการเลี้ยงปลาคราฟในปัจจุบัน

ปัจจุบันนี้ปลาคราฟเป็นปลาชนิดที่ได้รับความนิยมเพาะเลี้ยงในประเทศไทยเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังมีการเพาะเลี้ยงปลาคราฟเพื่อผสมพันธุ์ปลาเอง หรือมีการผสมพันธุ์กับปลาที่มีอยู่ในประเทศไทยด้วย เพื่อเป็นการพัฒนาให้เจ้าปลามีความเหมาะสมกับสภาพอากาศและสภาพแวดล้อมของประเทศไทยมากยิ่งขึ้น

ซึ่งประเทศไทยมีการเลี้ยงเจ้าปลาชนิดนี้หลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคกลาง ซึ่งพบว่ามีการเลี้ยงปลาคราฟเพื่อการค้า เลี้ยงปลาเพื่อความสวยงาม และเลี้ยงปลาเพื่อการส่งออกเป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม ปลาคราฟยังคงเป็นปลาที่ได้รับความนิยมและเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในวงการเลี้ยงปลา ซึ่งการเลี้ยงปลาคราฟมีความสำคัญกับหลาย ๆ ประเทศ ไม่ว่าจะประเทศจีน ประเทศญี่ปุ่น รวมถึงประเทศไทยด้วย ซึ่งปลาคราฟถือเป็นสัญลักษณ์ของความร่ำรวยและความเจริญรุ่งเรือง อีกทั้งยังมีตำนานอันยาวนานกว่า 2,000 ปี ดังนั้นเราควรช่วยกันอนุรักษ์เจ้าปลาสวยงามเหล่านี้ให้เป็นตำนานอยู่คู่กับเราไปอีกนาน ๆ ด้วยเช่นกัน