เลี้ยงปลาคราฟ ธงปลาคราฟ

รู้จักธงปลาคราฟในญี่ปุ่น มีความหมายและเกี่ยวข้องกับปลาคราฟอย่างไร

หากใครไปเที่ยวญี่ปุ่นในช่วงเดือนเมษายนไปจนถึงพฤษภาคม คงจะได้เห็นธงปลาคราฟหน้าตาสวยงามและสดใสแขวนอยู่ทั่วประเทศญี่ปุ่น เป็นสัญลักษณ์ทำให้รู้ว่ากำลังมีวันสำคัญใกล้เข้ามาถึงแล้ว นั่นก็คือวันเด็กของญี่ปุ่นนั่นเอง ซึ่งจะมีขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคมวันที่ 5 เดือน 5 ของทุกปีเป็นช่วงวันหยุด Golden week ของประเทศญี่ปุ่นที่จะมีงานและเทศกาลต่าง ๆ จัดขึ้น แต่งานวันเด็กกับปลาคราฟกระดาษนี้เกี่ยวข้องกันอย่างไร เรามาหาคำตอบกัน

ธงปลาคราฟกับวันเด็กของญี่ปุ่นมีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร

โคยโนโบริ หรือ ธงรูปปลาคราฟ เป็นสัญลักษณ์ของวันเด็กที่ญี่ปุ่น ประเพณีการติดธงปลาจะมีในช่วงฤดูใบไม้ผลิ เป็นช่วงที่ญี่ปุ่นมีการหยุดยาว ดังนั้นคนจึงนิยมไปท่องเที่ยวกันในช่วงนี้ ซึ่งความหมายของธงเมื่อก่อนจะหมายถึงวันเด็กของเด็กผู้ชายเพียงเท่านั้น ซึ่งสมัยก่อนใครที่มีลูกชายจะมีการติดธงดังกล่าวไว้หน้าบ้าน แต่ปัจจุบันถือโดยรวมว่าเป็นของเด็กทุกคน แต่ว่าเหตุผลอะไรที่คนต้องติดธงรูปนี้ และทำไมต้องเป็นปลาชนิดนี้

ธงปลาคราฟ

  • ความเชื่อในอดีต สาเหตุแรกที่คนญี่ปุ่นติดธงรูปปลาชนิดนี้ เพราะได้รับอิทธิพลความเชื่อมาจากประเทศจีน ว่าปลาชนิดนี้คือมังกร ตามตำนานเล่าว่าปลาว่ายทวนกระแสน้ำในแม่น้ำฮวงโห ด้วยความมุมานะพยายามของปลาทำให้ได้กลายร่างเป็นมังกร การแขวนธงปลาชนิดนี้จึงเป็นการให้ลูกชายระลึกถึงการมีความเพียรเพื่อให้ประสบความสำเร็จเหมือนกับปลาที่ว่ายทวนน้ำนั่นเอง
  • เป็นสิริมงคล คนญี่ปุ่นมีความเชื่ออยู่แล้วว่าการเลี้ยงปลาคราฟจะช่วยเสริมสิริมงคลให้กับบ้าน ดังนั้นเราจึงจะเห็นบ้านในญี่ปุ่นนิยมเลี้ยงปลาชนิดนี้ไว้แทบทุกบ้าน ยิ่งหากเลี้ยงตามหลักฮวงจุ้ยแล้วล่ะก็ จะช่วยเพิ่มโชคลาภ ดูดซับสิ่งไม่ดีที่จะเข้ามาภายในบ้านได้เป็นอย่างดี ดังนั้นธงก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะช่วยนำโชคได้เช่นกัน
  • เป็นสัญลักษณ์สร้างความสุข โดยการติดธงปลานั้นจะมีการจัดแบ่งสีต่าง ๆ ของธง ตามอายุของคนในบ้าน ซึ่งสามารถจัดการเรียงสีได้ดังนี้ สีดำแทนปลาพ่อ สีชมพูเข้มหรือสีแดงแทนปลาแม่ ส่วนสีฟ้าแทนปลาลูก ส่วนหากบ้านไหนมีลูกหลายคนก็จะเพิ่มสีน้ำเงิน ส้ม สีม่วง สีเขียวตามลำดับ
  • สร้างแรงบันดาลใจ นอกจากความสดใส ความสุขที่เพิ่มขึ้นในบ้านแล้ว การติดธงก็จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้นึกถึงการก้าวผ่านความลำบากของชีวิตอีกด้วย เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความอดทนและกล้าหาญ เปรียบได้กับธงปลาที่แหวกว่ายท่ามกลางสายลมที่พัดผ่านนั่นเอง
  • เป็นการขอพร การติดธงปลาคราฟเป็นการขอพรอีกรูปแบบหนึ่ง โดยเป็นการขอพรให้ลูกมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง และเติบโตไปอย่างสมบูรณ์ ซึ่งในสมัยก่อนนั้นจะเป็นการเน้นถึงสุขภาพของลูกชาย แต่ปัจจุบันครอบคลุมถึงลูกทุกคน
  • เทศกาลประจำปี ในช่วงเดียวกันเหนือแม่น้ำชิมันโตะ จะมีการจัดแขวนธงปลาถึง 500 ตัว ให้ท้องฟ้าแทนแม่น้ำ และลมแทนน้ำที่ปลาใช้แหวกว่าย โดยมีการเริ่มขึ้นเมื่อ 50 ปีก่อน เพราะมีเด็กผู้ชายพูดว่า หากพวกเขาโตขึ้นคงไม่มีใครแขวนธงให้กับพวกเขาแล้ว เมื่อครูพละได้ยินจึงได้ร่วมกับคนในชุมชนรวบรวมธงปลาเพื่อนำธงปลามาแขวนได้ 50 ตัว ต่อมาเรื่องราวดังกล่าวได้รับรู้กันมากขึ้นจึงจัดเป็นเทศกาลประจำปีมาจนถึงทุกวันนี้

 

สามารถกล่าวได้ว่าปลาคราฟนั้นมีบทบาทในญี่ปุ่นค่อนข้างมาก เพราะไม่ว่าจะเป็นความเชื่อในการเลี้ยงปลาเอง หรือการพัฒนานำมาทำเป็นธงแขวนตามความเชื่อและขอพรให้ลูกหลานของตนเอง ซึ่งหากใครอยากเห็นเทศกาลแขวนธงปลาที่มีความสวยงามด้วยตาตนเอง สามารถไปชมที่ญี่ปุ่นได้ในช่วงต้นเดือนเมษายนไปถึง 5 พฤษภาคม นอกจากจะได้เห็นความสดใสและความประณีตสวยงามของธงที่บรรจงทำลวดลายสีต่าง ๆ ออกมาแล้ว ยังได้เห็นประเพณีอันดีงามที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานอีกด้วย และนี่ก็เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมคนญี่ปุ่นจึงนิยมแขวนธงกันเป็นอย่างมาก เพราะแฝงไปด้วยความหมายดี ๆ ที่จะสร้างกำลังใจในการใช้ชีวิตและเติบโตของเด็ก ๆ ต่อไป