ปลาคราฟถือว่าเป็นปลาสวยงามที่คนนิยมเลี้ยงกันอย่างแพร่หลาย เพราะด้วยสีสันและความสวยงามของตัวปลาแล้ว ยังเป็นการเลี้ยงไว้ตามความเชื่อเกี่ยวกับการนำโชคอีกด้วย แต่เนื่องจากสายพันธุ์ปลาคราฟมีเยอะมากในตลาด แต่ละสายพันธุ์ก็มีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันไป ซึ่งหลายคนอาจจะรู้สึกกังวลว่า ถ้าซื้อมาเลี้ยงแล้วจะทำปลาตายหรือไม่ หรือยังเลือกไม่ถูกว่าจะซื้อปลาสายพันธุ์ไหนดี วันนี้เรามีปลาคราฟ 6 สายพันธุ์ที่สวยและเหมาะกับคนที่อยากจะเริ่มเลี้ยงปลามือใหม่มาฝาก
6 สายพันธุ์ปลาคราฟที่น่าเลี้ยง สวยงามและเหมาะกับมือใหม่
ปลาคราฟในท้องตลาดมีมากกว่า 10 สายพันธุ์ มีทั้งพันธุ์แท้และพันธุ์ผสม ซึ่งก็จะมีความสวยงามและเอกลักษณ์แตกต่างกันไป อีกทั้งขนาด รูปร่างก็จะต่างกัน ก่อนจะเริ่มเลี้ยงปลาคราฟ เราจึงควรศึกษาปลาสายพันธุ์ที่เหมาะกับเรามากที่สุด
-
- โคฮาคุ (Kohaku) เป็นสายพันธุ์ที่พบเห็นได้บ่อยมาก และคนนิยมเลี้ยงมาก เหมาะสำหรับคนที่อยากเลี้ยงปลาคราฟ ถือว่าเป็นสายพันธุ์ญี่ปุ่นที่ค่อนข้างมีความเก่าแก่ที่มาพร้อมกับความสวยงามและโดดเด่น โดยลักษณะของตัวปลาจะมีสีขาวและแดง ลวดลายก็จะแตกต่างกันไป ความพิเศษของปลาพันธุ์นี้ถึงขั้นที่นำศัพท์เฉพาะของการกำหนดลักษณะของปลาคราฟชนิดนี้มาใช้กับปลาชนิดอื่นอีกด้วย
- โอกอน (Ogon) หากใครที่ไม่ได้แค่อยากมีปลาไว้ชมเพื่อความสวยงามอย่างเดียว แต่อยากได้พันธุ์ปลาที่เลี้ยงง่ายและค่อนข้างเชื่อง ต้องสายพันธุ์โอกอนเลย โดดเด่นด้วยพันธุ์สีขาวเทา และสีทองบรอนซ์ไม่มีลวดลาย จึงเป็นอีกชนิดที่นิยมเลี้ยงกัน
- โอชิบะ ชิกูเร่ (Ochiba Shigure) ปลาอีกสายพันธุ์ที่เชื่องไม่แพ้กันคือพันธุ์โอชิบะ ชิกูเร่ เพราะหลายคนที่ชอบเล่นกับปลามักจะเลี้ยงปลาสายพันธุ์นี้ไว้เพื่อดึงดูดสายพันธุ์อื่น ๆ ให้กล้าเข้าใกล้คนมากยิ่งขึ้น โดยเกิดจากการผสมกันระหว่างโซรากอย (Soragoi) สีเทากับชากอย (Chagoi) สีทอง ที่เป็นพันธุ์ปลาที่ขึ้นชื่อว่าเฟรนลี่มากทีเดียว ดังนั้นนี่จึงเป็นสาเหตุให้คนนิยมเลี้ยงปลาคราฟพันธุ์นี้นั่นเอง
- ปลาคราฟจักรพรรดิ สำหรับใครที่อยากเลี้ยงเพื่อเสริมฮวงจุ้ยไปพร้อม ๆ กับเลี้ยงเพื่อความสวยงามแล้ว ปลาคราฟจักรพรรดิถือว่าตอบโจทย์ได้ดี ด้วยรูปลักษณ์ที่สวยโดดเด่น ครีบและหางยาวสวย เลี้ยงไม่ยากอย่างที่คิด ราคาสามารถจับต้องได้ สำหรับมือใหม่สามารถเลี้ยงได้เหมือนปลาคราฟทั่วไป แต่อาจจะต้องระวังการไปสัมผัสหรือจับบริเวณหางและครีบเพราะค่อนข้างบอบบางมาก โดยปลาคราฟชนิดนี้พบครั้งแรกที่ประเทศอินโดนีเซีย สามารถมีอายุยืนถึง 25-30 ปี ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูและปัจจัยโดยรอบ
- ตันโจ (Tancho) เป็นสายพันธุ์ที่คนญี่ปุ่นนิยมมาก เพราะจุดเด่นคือบริเวณหัวจะมีวงกลมสีแดงคล้ายกับธงชาติของญี่ปุ่น ส่วนบริเวณลำตัวจะเป็นสีขาวทั้งหมด ถือว่าจัดอยู่ในกลุ่มปลาคราฟวาไรตี้ มีความสวยงามที่เป็นเอกลักษณ์ชัดเจน แต่ไม่สามารถเพาะพันธุ์เองได้ทำให้ปลาสายพันธุ์นี้ค่อนข้างหายาก
- ชูซุย (Shusui) จุดเด่นของปลาคราฟสายพันธุ์นี้คือไม่มีเกล็ด ซึ่งทำให้ลายบนตัวปลามีสีที่ชัดเจนสวยงาม โดยจะมีเกล็ดสีฟ้าอยู่บริเวณกลางหลัง มีลายสีแดงซ้ายขวา จะสวยงามมากหากลายทั้งสองด้านมีความสมมาตรกัน ซึ่งเป็นปลาที่เกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่าง อาซากิ (Asaki) กับ ดอยทซึกอย (Doitsugoi) หรือปลาคราฟเยอรมันที่ไม่มีเกล็ด ซึ่งมักจะสามารถเห็นปลาสายพันธุ์นี้ในการประกวดปลาคราฟได้เช่นกัน
สรุป
หากใครที่ตัดสินใจไม่ได้ว่าจะเริ่มเลี้ยงปลาคราฟสายพันธุ์ไหน ลองใช้ข้อมูลข้างต้นเพื่อประกอบการตัดสินใจได้ เพราะเป็นปลาคราฟที่คัดมาจากความสวยงามและมีความเชื่อง เลี้ยงง่าย อีกทั้งยังเป็นสายพันธุ์ที่นิยมกันอีกด้วย หากได้สายพันธุ์ในใจแล้วก็อย่าลืมที่จะหาข้อมูลอื่น ๆ เกี่ยวกับปลาคราฟไว้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นวิธีการดูแล การเลือกบ่อปลาที่เหมาะสม รวมไปถึงข้อห้ามต่าง ๆ ที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษในการเลี้ยงปลาคราฟ รวมไปถึงการเลี้ยงปลาให้สามารถอยู่กับเราไปนาน ๆ ได้ เพราะนอกจากเลี้ยงไว้เพื่อความสวยงามแล้ว ปลาคราฟก็ยังเป็นสัตว์ที่ต้องการดูแลเอาใจเช่นกัน