สิ่งสำคัญในการเลี้ยงปลาคราฟนั้น นั่นก็คือบ่อปลาคราฟเพราะหากมีบ่อปลาคราฟที่ดีก็จะช่วยให้ปลาคราฟสามารถเจริญเติบโตมาได้อย่างแข็งแรง พร้อมกับมีสีสันที่สวยงาม มีอายุที่ยาวนานมากยิ่งขึ้น แต่หากใครที่มีงบน้อยหรือมีพื้นที่จำกัด อาจจะกังวลเรื่องงบประมาณที่มีว่าควรจะเลือกแบบบ่อปลาคราฟอย่างไร ขนาดเล็กใหญ่แค่ไหน และวัสดุที่ทำบ่อควรใช้อะไร วันนี้เรามีวิธีดี ๆ ในการเลือกบ่อปลาคราฟมาแนะนำกัน
ลักษณะแบบบ่อปลาคราฟที่เหมาะสำหรับคนมีงบน้อยและพื้นที่จำกัด
บ่อปลาคราฟนั้นสามารถสร้างได้หลากหลายรูปแบบ ซึ่งหัวใจหลักของการสร้างบ่อก็คือการมีน้ำที่สะอาดเพียงพอให้ปลาคราฟสามารถอยู่อาศัยได้ โดยจะต้องมีเครื่องกรองที่คอยกรองน้ำให้ใสอยู่เสมอ และมีค่า PH ของน้ำอยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยขั้นตอนการทำบ่อปลาคราฟด้วยงบประหยัดและพื้นที่จำกัดมีดังต่อไปนี้
- เลี้ยงในตู้ การเลี้ยงปลาคราฟในตู้กระจกนั้นสามารถทำได้ แต่ควรเลือกตู้ปลาที่มีขนาดใหญ่กว่าเลี้ยงปลาสวยงามทั่วไป เป็นวิธีที่ประหยัดที่สุดและทำให้สามารถมองเห็นลวดลายและความสวยงามของปลาคราฟได้อย่างเต็มที่ แต่ต้องมีการคำนึงถึงสิ่งต่าง ๆ ต่อไปนี้
- การเตรียมน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของปลาคราฟ โดยปลาคราฟขนาด 30 เซนติเมตร ต้องการน้ำครึ่งตัน ถึงจะสามารถอยู่อาศัยได้อย่างมีคุณภาพ
- ขาตั้งตู้ปลาคราฟ ต้องมีความแข็งแรง สามารถรับน้ำหนักของตู้ปลาคราฟได้ ควรเลือกใช้วัสดุที่สามารถรับน้ำหนักได้สูง หรือมีการคำนวณแล้วว่าน้ำหนักของตู้ปลาเท่านี้ ต้องใช้อุปกรณ์รับน้ำหนักเท่าไหร่
- เครื่องกรองน้ำ เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับการเลี้ยงปลาคราฟในตู้ เพราะจะช่วยให้น้ำใสและมีการกรองและบำบัดน้ำ ช่วยลดสิ่งสกปรกตกค้างในตู้ปลา เช่น อาหารปลาที่เหลือค้างในตู้ เป็นต้น
- ออกซิเจน สำคัญมากเช่นกัน เพราะปลาคราฟต้องการน้ำที่สะอาดมาก ๆ และหากมีออกซิเจนในน้ำสูงก็ช่วยให้ปลามีสุขภาพที่แข็งแรง ยืดอายุปลาคราฟให้ยาวนานขึ้น
- เครื่องสำรองไฟ การเกิดไฟดับเป็นเหตุการณ์ที่เราคาดไม่ถึง ดังนั้นการมีเครื่องสำรองไฟเพื่อไว้รองรับเหตุการณ์ไฟตก หรือไฟดับ จะช่วยให้อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการตู้ปลาคราฟ ยังสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่
- เลี้ยงในบ่อคอนกรีตแบบก่อที่วางอยู่บนพื้นคอนกรีตเดิม
การเลี้ยงในบ่อคอนกรีตเป็นที่นิยมมากเช่นกัน โดยเฉพาะบ้านที่มีพื้นที่ขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง อาจจะเป็นข้างบ้านหรือหลังบ้าน ซึ่งจะไม่มีการขุดดินเพื่อวางเสาเข็มและเทเป็นบ่อปลาแบบ ค.ส.ล. แต่จะเป็นการนำอิฐบล็อกมาก่อบริเวณพื้นคอนกรีตเดิมของบ้าน ให้สูงขึ้นตามความต้องการ จะช่วยประหยัดงบในการลงเสาเข็มได้เป็นอย่างดี เพราะใช้โครงสร้างของพื้นที่มีอยู่แล้ว โดยรายละเอียดของบ่อชนิดนี้มีดังนี้
- อิฐบล็อกหรืออิฐมอญ จะใช้การก่ออิฐบล็อกหรืออิฐมอญเป็นขอบบ่อเลี้ยงปลาคราฟ โดยเลือกความสูงได้ตามความต้องการ หรือเลือกตามขนาดและจำนวนของปลาที่จะเลี้ยง จากนั้นฉาบปูนให้เรียบร้อยและทากันซึมทับเพื่อป้องกันการเกิดการรั้วของน้ำในบ่อ
- แบ่งสัดส่วนบ่อกรองและบ่อปลา ควรมีการแบ่งพื้นที่บ่อกรองและบ่อปลาคราฟ เป็นสัดส่วนที่ 1:3 จะเป็นสัดส่วนที่กำลังดีสำหรับการเลี้ยงปลาคราฟ
- วัสดุที่ใช้ในการกรอง สามารถใช้ใยแก้ว ผงถ่าน หินกรวด หรือเปลือกหอยนางรมใส่ในบ่อกรองได้
- เช็กค่า PH ของน้ำ โดยน้ำควรจะมีค่า PH อยู่ที่ 7-7.5 จะเป็นค่าที่ปลาคราฟสามารถอยู่ได้อย่างแข็งแรง
นี่ก็เป็นตัวอย่างแบบบ่อปลาคราฟที่ใช้งบน้อยและพื้นที่จำกัด เพราะตู้ปลาคราฟสามารถวางได้ทุกมุมของบ้าน และบ่อปลาคราฟแบบก่ออิฐบล็อกบนพื้นเดิม ก็สามารถเลือกทำขนาดเล็ก ๆ ได้ เหมาะสำหรับคนที่ไม่มีพื้นที่บ้านได้เป็นอย่างดี แต่สิ่งที่ควรเอาใจใส่มากที่สุด คือการรักษาน้ำให้ใสและสะอาดอยู่เสมอ เพราะปลาคราฟสามารถตายได้ง่ายมาก หากน้ำสกปรกหรือมีสิ่งเจือปน และหากบ่อปลาคราฟมีน้ำพุหรือน้ำไหลตลอดก็จะช่วยป้องกันปลากระโดดได้เป็นอย่างดี ส่วนตู้ปลาคราฟก็ควรมีฝาปิดเช่นกัน