เมื่อเราตัดสินใจเลี้ยงปลาคราฟแล้ว การดูแลปลาคราฟถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่ไม่สามารถละเลยได้ เพราะปลาชนิดนี้ต้องมีการดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษถึงจะเติบโตได้อย่างแข็งแรงและอายุยืน และหากยิ่งเป็นลูกปลาคราฟด้วยแล้วนั้น ในช่วงแรกเกิดยิ่งจำเป็นต้องเอาใจใส่มากขึ้นเช่นกัน ซึ่งวิธีการเลี้ยงดูปลาคราฟแรกเกิดให้แข็งแรงสวยงามนั้นสามารถทำได้ไม่ยากหากรู้วิธี ซึ่งวันนี้เราจะมาทำความเข้าใจในการดูแลปลาคราฟเกิดใหม่กัน
วิธีการดูแลลูกปลาคราฟเกิดใหม่
การดูแลลูกปลาเกิดใหม่นั้นต้องเอาใจใส่ตั้งแต่เรื่องบ่อเลี้ยง สภาพแวดล้อม คุณภาพน้ำไปจนถึงการเลือกให้อาหาร ซึ่งอาหารของลูกปลาก็จะมีความแตกต่างจากปลาที่โตเต็มวัยแล้ว
- ทำเลที่ตั้งในการวางบ่อ ควรเลือกบริเวณที่อากาศถ่ายเทสะดวก มีสายแดดส่องถึง แต่ไม่ควรเป็นแดดที่จัดมากเกินไป ต้องเป็นแดดเช้าและตอนเที่ยงมีหลังคาคลุมที่สามารถกรองแดดได้ 50 % ไม่ควรวางในมุมอับหรือที่อับชื้น เพราะจะทำให้ปลาป่วยตายได้ โดยปกติอุณหภูมิที่ปลาคารฟชอบนั้นจะอยู่ 20-25 องศาเซลเซียส และหากเป็นบ่อที่สร้างใหม่ ควรเป็นบ่อปลาที่มีความแข็งแรง ทางที่ดีควรเป็นวัสดุที่ไม่มีความคมหรือความขรุขระที่จะก่อให้เกิดอันตรายเมื่อปลาว่ายน้ำชนได้
- การทำความสะอาดระบบกรองน้ำ เมื่อปลาเกิดใหม่จะมีความบอบบางมากกว่าปลาที่โตแล้ว ดังนั้นการล้างทำความสะอาดระบบกรองจึงมีความสำคัญ เพื่อทำให้น้ำคงคุณภาพและความใสตลอด และที่สำคัญควรตรวจสอบค่า PH ของน้ำให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อให้ลูกปลาปลอดภัย
- การเพิ่มสมาชิกใหม่เข้าบ่อ การเพิ่มสมาชิกปลาใหม่เข้าในบ่อปลาเดิมที่มีอยู่แล้ว ต้องระมัดระวังว่าปลาที่เราจะเพิ่มมานั้นจะมีโรคติดมาด้วยหรือไม่ ดังนั้นจึงต้องนำลูกปลาแยกไว้ในบ่อที่มีออกซิเจนอีกที่ก่อน และแช่ไว้ในน้ำที่มีการใส่น้ำยาฆ่าเชื้อเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็น ไซเตสหรือยาดีมิลีน โดยทุกครั้งที่ให้ต้องเว้นทุก 2 วัน ให้ครบ 3 ครั้ง แล้วจึงนำน้ำในบ่อที่เราจะนำปลาไปลงมาใส่ปลาใหม่ เพื่อให้ทำความคุ้นเคยกับน้ำในบ่อเสียก่อน ถ้าไม่พบความผิดปกติ จึงนำปลาคราฟลงบ่อได้เลย
- การให้อาหารลูกปลาคราฟ ขั้นตอนนี้ถือว่ามีความสำคัญมากเช่นกัน เพราะลูกปลาเกิดใหม่จะมีอาหารเฉพาะ โดยสามารถแยกอาหารตามอายุได้ดังนี้
-
- อายุแรกเกิด – 2 อาทิตย์ ควรให้อาหารหลังจากที่ปลาเกิดได้ 3-5 วันแล้ว ซึ่งอาหารที่เหมาะกับอายุปลาช่วงนี้คือ ไรแดงและไข่บด ที่ต้องให้ร่วมกัน จะช่วยให้ลูกปลาแข็งแรง
- ลูกปลาอายุ 15-30 วัน สามารถให้อาหารที่หยาบขึ้นได้แล้ว โดยเปลี่ยนจากไข่บดมาเป็นปลาบดผสมกับรำละเอียดแทน และให้ควบคู่กับไรแดงเช่นกัน
- ลูกปลาอายุ 30-60 วัน ลูกปลาเริ่มโตขึ้นแล้วสามารถหยุดให้ไรแดงและมาเน้นให้ปลาบดผสมกับรำละเอียด พร้อมทั้งสามารถเริ่มให้อาหารเสริมสำเร็จรูปได้แล้ว
- ปลาอายุ 2-3 เดือน เมื่อปลาเริ่มเข้าสู่ช่วงนี้ ทั่วทั้งตัวของปลาจะเริ่มมีสีเหลืองแล้ว การให้อาหารจะสามารถให้อาหารหยาบได้มากขึ้น ซึ่งอาหารที่เหมาะกับปลาช่วงอายุนี้คือ ปลายข้าว รำละเอียด ปลาป่นและกากถั่วเหลืองผสมกัน และเมื่อปลาโตขึ้นหลังจากนี้ก็สามารถให้อาหารสำเร็จรูป ของปลาทับทิม ปลาดุก หรือปลานิลได้
5. สภาพอากาศ การเลี้ยงปลาคราฟเมื่อไหร่ที่เข้าช่วงหน้าหนาวหรือช่วงที่อากาศเย็น จำเป็นจะต้องเอาใจใส่มากกว่าปกติ ทำให้ระบบย่อยอาหารของปลานั้นทำงานได้อย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ จึงจำเป็นที่จะต้องลดการให้อาหาร หรือลดปริมาณอาหารช่วงนี้ลง เพราะจะทำให้ปลาท้องอืดได้ เมื่ออากาศเข้าสู่สภาวะปกติจึงกลับมาให้ปริมาณเท่าเดิม
ลูกปลาคราฟต้องการการเอาใจใส่มากกว่าปลาคราฟที่โตเต็มไวแล้ว หากยังไม่มั่นใจในการจะดูแลลูกปลา แนะนำให้ซื้อปลาคราฟที่โตเต็มวัยมาเลี้ยงแทน หรือหากเกิดลูกปลาจากการผสมพันธุ์เองในบ่อ ในระยะแรกการแยกเลี้ยงจะช่วยให้ลูกปลาปลอดภัยมากขึ้น เพราะไม่ต้องกังวลว่าจะไปกินอาหารของปลาที่โตแล้วและอาจจะเกิดอันตรายได้