ปลาคราฟจักรพรรดิ์ และปลาคราฟในประเทศไทยสามารถแบ่งสายพันธุ์ได้มากถึง 13 สายพันธุ์ ด้วยการเริ่มต้นจากการนำเข้าพันธุ์ปลาคราฟมาจากประเทศญี่ปุ่น ในแต่ละสายพันธุ์มีสีสันที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ประจำสายพันธุ์นั้น ๆ โดยลักษณะของปลาคราฟที่ดี สำหรับทุกสายพันธุ์คือ จะต้องมีส่วนหัวที่มีความสมบูรณ์ คือใหญ่ กลม และดูแข็งแรง ส่วนลำตัวจะต้องได้สัดส่วนมีความสง่างาม ไม่สั้นและไม่อ้วนเกินไป มีลักษณะทรวดทรงคล้ายกระสวยยามแหวกว่าย ท่วงท่าการว่ายจะต้องมีความสมดุลไม่ว่ายส่ายไปมา มีส่วนหางที่ใหญ่และแข็งแรง สีสันชัดเจน ไม่หมอง ไม่ซีด จากลักษณะที่ดีที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ ยังมีปลาคราฟอีกหนึ่งสายพันธุ์ ที่มีลักษณะโดดเด่นเพิ่มขึ้นมาจากปลาสายพันธุ์หลัก นั่นคือ มีส่วนครีบและหางที่ยาวสลวย คล้ายกระโปรงพลิ้วไปมายามแหวกว่าย มีความสวยสง่างาม และทรงพลัง สายพันธุ์ที่กล่าวถึงนี้คือ “ปลาคราฟจักรพรรดิ์”
หัวข้อทั้งหมด
ปลาคราฟจักรพรรดิ์ มีความเป็นมายังไง
ขอบคุณภาพทั้งหมดจาก ภาพจาก คราฟจักรพรรดิ์ K.D. Farm
ปลาคราฟจักรพรรดิ์มีแหล่งกำเนิดอยู่ที่ประเทศไทย เป็นปลาที่ไทยเราเพาะพันธุ์ขึ้นมาเองจากการนำปลาคราฟสายพันธุ์หลักมาทดลองผสมพันธุ์ จนกลายเป็นปลาคราฟจักรพรรดิ์ นอกจากการผสมพันธุ์แล้ว เรายังทำการพัฒนาสายพันธุ์จนปลาคราฟชนิดนี้มีความสมบูรณ์แข็งแรงเทียบเท่ากับปลาคราฟสายพันธุ์หลักอีกด้วย แล้วการเลี้ยงปลาคราฟจักรพรรดิ์มีความยุ่งยากกว่าปลาคราฟทั่วไปหรือไม่ และควรเลี้ยงอย่างไร ข้อมูลที่ต้องรู้อยู่ด้านล่างนี้แล้ว
-
ลักษณะและโครงสร้าง
ปลาคราฟจักรพรรดิ์ มีลักษณะลำตัวเป็นกระสวยยาว ลำตัวกลม ไม่อ้วน มีส่วนหัวที่ใหญ่และแข็งแรง มีส่วนครีบและหางยาวเสมอลำตัว เวลาว่ายจะคล้ายกับผีเสื้อกำลังโบยบิน หรือคล้ายกับกระโปรงพลิ้วไปมาตามจังหวะการว่าย และถึงแม้จะมีส่วนครีบและหางที่ทั้งใหญ่และยาว แต่ลำตัวของปลาก็มีความแข็งแรงเพียงพอที่จะทำให้เวลาที่แหวกว่ายไม่เสียสมดุลส่ายไปมา ดังนั้นหากเลือกซื้อปลาคราฟจักรพรรดิ์จะต้องเลือกปลาที่ว่ายแล้วไม่ส่ายไปมา เช่นเดียวกับปลาคราฟทั่วไป ส่วนครีบและหางที่ยาวขึ้นไม่มีผลต่อการว่ายของปลา เกล็ดของปลาเรียงตัวสวย ชิดสนิทกันตลอดทั้งตัว ไม่มีเกล็ดส่วนไหนที่กางออกมา -
สมบูรณ์เทียบเท่าปลาคราฟทั่วไป
มีความเข้าใจผิดของผู้เลี้ยงมากมาย ที่คิดว่าปลาคราฟจักรพรรดิ์เป็นปลาที่เกิดจากการเพาะพันธุ์ขึ้นมาเอง ทำให้ปลาชนิดนี้มีรูปร่างที่ผิดลักษณะ คือ มีลำตัวเล็ก ไม่โต อ่อนแอ ตายง่าย และไม่ทนต่อสภาพอากาศ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะสายพันธุ์ปลาคราฟจักรพรรดิ์มีความสมบูรณ์ แข็งแรง และทนต่อสภาพดิน ฟ้า อากาศ เทียบเท่ากับปลาคราฟทั่วไป -
การให้อาหาร
ปลาคราฟจักรพรรดิ์ กินอาหารเหมือนกับปลาคราฟทั่วไป นั่นคือ กินได้ทั้งสัตว์และพืช โดยการให้อาหารคือวันละ 2 ครั้ง สามารถใช้เป็นอาหารปลาแบบเม็ดชนิดลอยน้ำ หรืออาหารสดอย่างกุ้งสดบด ไข่แดงต้มสุกบด ข้าวสาลี รำ ข้าวโพด แมลง หรือหนอนแดง ปลาคราฟจักรพรรดิ์มีนิสัยกินจุ กินเยอะ ดังนั้นเมื่อให้อาหารแล้วเห็นว่าปลากินอาหารหมดเร็ว ให้เพิ่มลงไปได้อีกนิดหน่อย แต่หากอาหารยังลอยน้ำอยู่ให้รีบตักออกเพื่อป้องกันน้ำเน่าเสีย -
ลักษณะนิสัย
ปลาคราฟจักรพรรดิ์ มีนิสัยเชื่อง กินเก่ง แข็งแรง โตไว ขี้ตกใจ และชอบคุ้ยเขี่ยหาอาหารตามพื้นกิน ดังนั้นในบ่อปลาไม่ควรจัดเป็นหินตามพื้น เพราะเศษอาหารและสิ่งปฏิกูลจะไปสะสมกันอยู่ที่ใต้หิน เมื่อปลาไปคุ้ยเขี่ยหาอาหารจะทำให้น้ำขุ่นเร็ว และยังเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคต่าง ๆ ที่เป็นภัยต่อปลาอีกด้วย -
การจัดสถานที่เลี้ยงปลา
ด้วยปลาคราฟจักรพรรดิ์ เป็นปลาที่มีครีบและหางยาวกรุยกราย บวกกับนิสัยชอบคุ้ยเขี่ยหาอาหารตามก้นบ่อหรือตามพื้น การจัดตู้ปลา หรือบ่อปลา จึงไม่ควรมีสิ่งกีดขวาง หรือของประดับภายใน เพราะจะทำให้ครีบและหางของมันไปเกี่ยวกับของประดับจนขาดเป็นริ้ว ส่งผลให้การว่ายเสียสมดุล และขาดความสวยงาม
วิธีการเลี้ยงปลาคราฟจักรพรรดิ์ ให้แข็งแรง และโตเร็ว
การเลี้ยงปลาให้แข็งแรงและโตเร็วนั้น ปัจจัยหลักไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวปลาหรือสายพันธุ์ของปลาทั้งหมด แต่ยังรวมไปถึงปัจจัยด้านการเลี้ยงดู เอาใจใส่ การให้อาหาร และการเข้าใจลักษณะของสายพันธุ์ปลาที่เลี้ยงเป็นอย่างดี อย่างปลาคราฟจักรพรรดิ์ จะเลี้ยงให้แข็งแรงและโตเร็ว จะต้องเข้าใจเรื่องพื้นฐานของปลาคราฟก่อนว่า พวกมันเป็นปลาขนาดใหญ่ ที่ไม่นิยมเลี้ยงในตู้ เพราะพวกมันจะโตตามขนาดของแหล่งน้ำที่มันอาศัย ดังนั้นการเลี้ยงในตู้จะต้องเป็นตู้ที่ใหญ่พอที่จะรองรับการเติบโตเต็มที่ของมัน คือ 60-70 เซนติเมตร และขนาดของตู้จะต้องสัมพันธ์กันกับจำนวนปลาในตู้ด้วย หากมีจำนวนปลาหนาแน่นมากเกินไป ปลาจะหยุดการเจริญเติบโตโดยธรรมชาติทันที
นอกจากนี้แล้วความบริสุทธิ์ของน้ำที่เลี้ยงปลาคราฟจักรพรรดิ์ และปริมาณน้ำที่เลี้ยงปลาก็มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของปลาเช่นกัน แน่นอนว่าปลาคราฟจักรพรรดิ์ต้องการความบริสุทธิ์ของน้ำเทียบเท่ากับปลาคราฟทั่วไป นั่นคือ มีค่า PH 7.5-8 จะช่วยให้การพัฒนาของสีสันลำตัวมีความชัดเจน สีสดไม่ซีดจาง ปริมาณน้ำควรจะมีความลึก 1.5 เมตรขึ้นไป เพื่อให้ปลาได้มีพื้นที่ในการแหวกว่าย ไม่แออัด และไม่ก่อให้เกิดความเครียด การเลี้ยงปลาคราฟในตู้มีโอกาสที่จะทำให้ปลาเกิดความเครียดและตกใจได้บ่อยกว่าการเลี้ยงในบ่อ เนื่องจากมีคนเดินผ่านไปผ่านมาบริเวณตู้บ่อย ๆ เมื่อปลามีอาการเครียดกระบวนการย่อยอาหารจะทำงานผิดปกติ ทำให้อาหารที่กินไปไม่ย่อย ส่งผลให้เกิดลมในลำไส้ และปลามีอาการเจ็บป่วยได้
ปลาคราฟจักรพรรดิ์ คือหนึ่งในสายพันธุ์ของปลาคราฟที่ประเทศไทยเป็นผู้เพาะพันธุ์และพัฒนาขึ้นมาเอง ตัวปลามีความสมบูรณ์แบบตามลักษณะที่ดีของปลาคราฟทั่วไป ไม่มีข้อบกพร่อง ดังนั้นการเลี้ยงดูปลาคราฟจักรพรรดิ์จึงไม่แตกต่างจากปลาคราฟทั่วไป นั่นคือผู้เลี้ยงต้องมีเวลาใส่ใจกับปลาที่เลี้ยง คอยสังเกตอาการเจ็บป่วยที่อาจจะเกิดขึ้น และหมั่นทำความสะอาดบ่อปลาเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค