เลี้ยงปลาคราฟ

ทำไมสายพันธุ์ปลาคราฟโคฮาคุถึงเป็นที่นิยมและครองใจคนรักปลาคราฟ

สายพันธุ์ปลาคราฟมีความเก่าแก่และหลากหลาย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีการผสมพันธุ์การแพร่พันธุ์กันอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดสายพันธุ์ปลาที่หลากหลายและสวยงาม ปลาคราฟโคฮารุก็เป็นอีกสายพันธุ์ที่มีความเก่าแก่ และมีประวัติอันยาวนาน อีกทั้งสายพันธุ์นี้ยังเป็นปลาคราฟที่คนนิยมเลี้ยงมากที่สุด เพราะลวดลายสีแดง ขาว ที่เป็นเอกลักษณ์ โดยเฉพาะคนที่กำลังหัดเลี้ยงปลาคราฟใหม่ ๆ สายพันธุ์นี้ถือว่าเป็นจุดเริ่มที่ดี

ทำความรู้จักสายพันธุ์ปลาคราฟโคฮาคุที่ครองใจคนมายาวนาน

สายพันธุ์ปลาคราฟ โคฮาคุ
ปลาคราฟสายพันธุ์โคฮาคุเดิมทีมีชื่อว่า ซาราสะ (Sarasa) ซึ่งมีความหมายว่า ผ้าพิมพ์ โดยมีการถูกค้นพบครั้งแรกในช่วงปี ค.ศ. 1800 ซึ่งเกิดจากการผ่าเหล่ามาจาก มากอย (Magoi) ปลาไนสีดำ โดยในสมัยก่อนปลาไนยังเป็นที่นิยมในการนำมารับประทาน แต่เมื่อมีการค้นพบการผ่าเหล่าออกมาเป็นปลาคราฟ จึงค่อย ๆ ลดการนำมาเป็นอาหาร หลังจากนั้นได้มีการนำไปผสมพันธุ์กับ ฮิกอย (Higoi) ปลาคราฟที่มีสีแดงทั้งลำตัว จนมาเป็นลักษณะปัจจุบันคือเป็นปลาสีขาวมีจุดสีแดง ต่อมามีการพัฒนาสายพันธุ์มาเรื่อย ๆ จนมีการเปลี่ยนชื่อมาเป็น โกสุเกะโคฮารุ ซึ่งตั้งชื่อตามฟาร์มปลาคราฟที่มีชื่อเสียงในขณะนั้น ซึ่งความหมายของคำว่าโคฮาคุมาจาก โค แปลว่าสีแดง ฮาคุ แปลว่าหิมะ จึงมีความหมายว่าปลาที่มีสีแดงและสีขาวประหนึ่งหิมะ ซึ่งปลาคราฟชนิดนี้มีชื่อเรียกตามลวดลายบนตัวปลาเยอะมาก แต่จะมีวิธีตรวจสอบว่าปลาคราฟลักษณะใดที่สวยงามได้มาตรฐานที่สุด

  1. สีพื้นของปลา ลำตัวของปลาจะต้องมีสีขาวบริสุทธิ์เปรียบดั่งหิมะ ไม่มีจุดดำด่างปะปน จึงจะถือว่าเป็นปลาคราฟที่มีความสวยงามตรงตามมาตรฐาน
  2. สีแดงบนตัวปลา จะต้องเป็นสีแดงสดที่เหมือนกับเลือดของนก มีความคมชัดและเม็ดสีหนาแน่น แต่บางฟาร์มสอาจจะติดออกส้มบาง แต่ถ้าสีเข้มและชัด ยังจัดอยู่ในมาตรฐานของปลาคราฟชนิดนี้อยู่และเมื่อปลาโตขึ้นสีแดงจะต้องไม่ซีดจาง
  3. ขอบของสีแดง จะต้องมีความคมและสีเข้ม ขอบสีแดงจะต้องชัด หากมีขอบที่เบลอต้องเบลอไม่ถึง 2 แถวของเกล็ดสีแดง แต่หากเป็นเข้มตรงขอบ แต่ด้านในสีจาง หรือขอบจางด้านในสีเข้ม ก็ถือว่าไม่จัดอยู่ในมาตรฐานของปลาคราฟสายพันธุ์นี้
  4. ครีบหน้าและหาง ครีบหน้าควรเป็นสีขาวสะอาดตา ไม่มีสีแดงบริเวณนี้ หางก็เช่นกัน จะถือว่าจัดอยู่ในมาตรฐานมากที่สุด แต่ในปัจจุบันสำหรับการประกวดมีการอนุโลมบ้างเล็กน้อย
  5. บริเวณหัวปลา จะต้องมีแดงที่สดเข้ม สีแดงจะต้องไม่กินพื้นที่ไปถึงจมูกและขอบตา หากมีลักษณะทับหัวตาจะไม่ถือว่าอยู่ในมาตรฐาน
  6. ช่วงท้ายของปลา จำเป็นต้องมีช่องว่างสีขาวบริเวณโคนหาง ไม่มีสีแดงที่ชิดโคนหางมากจนเกินไป ตามภาษาในวงการปลาที่มีการเรียกลักษณะเช่นนี้ว่า ท้ายเปิด
  7. ความสมดุลของสี จะต้องมีสีแดงที่มีความสมดุลกัน ลวดลายไม่หนักไปข้างใดข้างหนึ่ง ถึงจะอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของโคฮาคุ แต่ในปัจจุบันการแบ่งลักษณะต่าง ๆ เพื่อตรวจสอบ ยากมากที่จะได้เจอปลาที่มีการตรงตามมาตรฐานทุกข้อ จึงมีการแยกชื่อเรียกสายพันธุ์ปลาคราฟโคฮาคุตามลักษณะจุดเด่นของลวดลายที่เกิดขึ้นตามลำตัว ดังนั้นการพิจารณาคุณสมบัติสำหรับการประกวด จึงจะต้องตรวจสอบถึงลายที่เป็นลักษณะเด่นของสายพันธุ์ว่าจัดอยู่หมวดหมู่ใดของปลากันแน่

เพราะความพิเศษและสวยงามของปลาคราฟสายพันธุ์นี้ จึงทำให้คนที่เลี้ยงปลาคราฟมีวลียอดฮิตที่ว่า“Keeping Nishikigoi begin with Kohahu and end with Kohaku” หรือแปลว่าผู้ที่เลี้ยงปลาคราฟ เริ่มต้นจากโคฮาคุและจบที่โคฮาคุ ซึ่งนั้นก็คือ คนที่หัดเลี้ยงปลาคราฟมือใหม่มักจะเริ่มเลี้ยงด้วยสายพันธุ์โคฮาคุ และสุดท้ายแม้จะหัดไปลองเลี้ยงปลาคราฟสายพันธุ์อื่น ๆ แต่ก็จะกลับมาเลี้ยงสายพันธุ์นี้อยู่ดี ก็หวังว่าวันนี้ทุกคนจะได้รู้จักปลาคราฟโคฮาคุเพิ่มมากขึ้นว่าความเก่าแก่ ที่มาที่ไปและความสวยงามของปลาชนิดนี้นั้นมีความน่าสนใจอย่างไร