ปลาคราฟสายประกวด

ตามดูเซียนปลาคราฟสายประกวด วิธีเลี้ยงแตกต่างจากปลาบ้านไหม

                นอกจากปลาคราฟจะเป็นหนึ่งในสัตว์เลี้ยงที่บางคนชอบพูดแซวกันเล่น ๆ ว่าเป็นสัตว์เลี้ยงของคนรวย ประโยคนี้อาจจะไม่เกินจริงเลย เพราะการเลี้ยงปลาคราฟจำต้องมีทุนรอนส่วนหนึ่งที่ใช้ในการเลี้ยงดู ไม่ว่าจะเป็นค่าสถานที่ ค่าอาหาร หรือค่าการบำรุงรักษา แต่ปลาคราฟหนึ่งตัวที่ลงทุนไปก็อาจจะทำให้คุณกลายเป็นคนรวยได้ โดยเฉพาะการเลี้ยงเพื่อส่งประกวด ถ้าหากสนใจอาชีพเสริมที่มีแนวโน้มรายได้งามแบบนี้ ตามไปดูกันว่าเหล่าเซียนปลาคราฟทั้งหลายเขาทำอะไรกันบ้าง

ก้าวแรกที่ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง

                ก่อนจะเริ่มต้นเลี้ยงปลาคราฟเพื่อส่งประกวด เราก็ต้องรู้ความต้องการของตลาดกันเสียก่อน แม้ปลาคราฟจะมีความน่าอัศจรรย์ ตรงที่ไม่มีปลาตัวใดเลยที่จะมีลวดลายซ้ำกัน เนื่องจากลวดลายเหล่านั้นเกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่จากคำแนะนำของหลาย ๆ ฟาร์มปลาคราฟที่ส่งประกวดและคว้ารางวัลมาได้ทุกปี มีข้อที่ควรรรู้ดังนี้

  • ปลาคราฟที่ตัวใหญ่ และมีลวดลายสีสันสวยงาม ส่วนมากจะเป็นปลานำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น มากกว่าปลาคราฟที่ถูกเพาะพันธุ์ขึ้นในประเทศไทย ซึ่งอาจจะมาจากวิธีการเลี้ยงและความลับในด้านเทคนิคที่ไม่อาจเปิดเผยได้ และแน่นอน ว่ามีราคาสูงกว่าด้วย
  • ปลาคราฟที่การประกวดให้การยอมรับและคว้าแชมป์มาได้หลายสมัย มี 4 สายพันธุ์หลัก ๆ ได้แก่

    1.Kohaku สายพันธุ์ที่มีลายขาวและแดง เป็นสายพันธุ์ที่นิยมเลี้ยงกันมากที่สุด
    2.Taisho Sanke สายพันธุ์ที่มีสีขาว แดง และดำสลับกัน แต่ที่หัวจะมีสีแดงเป็นหลักและมีสีดำมาสลับ
    3.Showa Sanshoku สายพันธุ์ที่มีสีแดงและขาวอยู่ที่หัวเป็นหลัก มีสีดำมาสลับตามลำตัวถึงใต้ท้อง
    4.Shiro Utsuri สายพันธุ์ที่มีสีขาวเป็นหลัก สีดำจะเป็นลายตามลำตัว

  • การซื้อปลาคราฟจากญี่ปุ่นจะต้องซื้อผ่านดีลเลอร์เท่านั้น ไม่สามารถไปซื้อเองโดยตรงที่ฟาร์มได้ หรือถ้าเราอยากประมูลปลาไว้ก่อนก็ทำได้ มีข้อดีตรงที่เราฝากเลี้ยงไว้ที่ญี่ปุ่นก่อนได้ ถ้าหากปลาตายก็สามารถขอเงินคืนได้ หรือถ้าหากมีดีลเลอร์ที่อื่นมาขอซื้อต่อ เราก็สามารถขายต่อได้และได้ส่วนต่างราคาที่สูงขึ้น

เลี้ยงให้ถูกวิธี ปลาสีสวยสด ตัวใหญ่ แข็งแรง

                เมื่อเราได้ปลาคราฟที่เราหมายตาแล้ว ขั้นตอนต่อมาก็มาถึงวิธีการเลี้ยงปลาให้อยู่รอด เติบโต และมีลวดลายสวยงาม หลักการเบื้องต้นมีดังนี้

  • สำหรับเริ่มต้นเลี้ยงปลาคราฟไม่กี่ตัว อาจจะเลี้ยงในบ่อผ้าใบหรือบ่อซีเมนต์ก็ได้ แต่ควรมีปริมาณน้ำต่อปลาที่เหมาะสม คือน้ำ 1 ตัน ต่อปลาคราฟ 1 ตัว เนื่องจากปลาคราฟเป็นปลาที่ชอบว่ายทวนน้ำ และไม่ชอบน้ำนิ่ง หากมีพื้นที่จำกัด และแคบมากเกินไป ปลาก็จะอึดอัด เจริญเติบโตได้ไม่ดี
  • ไม่ควรซื้อปลาบ่อยเกินไป ควรจะวางแผนการซื้อเป็นรอบ ๆ และก่อนที่จะปล่อยปลารอบใหม่ลงไปในบ่อเดิม จะต้องมีการกักโรคไว้ก่อนอย่างน้อย 1 สัปดาห์ เพื่อให้มั่นใจว่าปลารอบใหม่จะไม่นำเชื้อโรคไปแพร่สู่ปลาในบ่อเดิม
  • อาหารที่จะให้ปลาคราฟ ไม่ควรให้ปริมาณมากเกินไป บางคนเข้าใจว่าการให้มาก ๆ จะช่วยขุนให้ปลาตัวใหญ่ อ้วนท้วนเร็วขึ้น นั่นเป็นความเข้าใจที่ผิด เนื่องจากปลาคราฟไม่มีกระเพาะอาหาร กินเข้าไปแล้วก็ขับถ่ายออกมาหมด การให้อาหารมากเกินไปจะทำให้อาหารเหล่านั้นไปเกาะเป็นไขมันที่ตับและถุงลม ส่งผลให้ปลาป่วยและตายในที่สุด ดังนั้นควรแบ่งมื้ออาหารเป็นมื้อย่อย ๆ ห่างกันประมาณ 1-2 ชั่วโมง และให้ทีละน้อย ๆ
  • หากบ่อน้ำสกปรก ต้องทำการถ่ายน้ำทันที โดยน้ำที่ใช้เติมลงไป 20-30 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มเติมต้องผ่านการกักไว้ก่อน 2-3 วันจึงนำไปเติมลงในบ่อได้
  • ต่อให้ได้สายพันธุ์ปลาที่ดีมากแค่ไหนมาเลี้ยง ก็ต้องหมั่นสังเกตและเดินตรวจตราทุกวัน ถ้าหากพบปลาลอยนิ่งผิดปกติ ไม่กินอาหาร แยกตัวสันโดษ ก็อาจบ่งบอกถึงอาการป่วย ควรรีบแยกปลาที่ป่วยออกมาจากบ่อทันที

ไก่งามเพราะขน ปลางามเพราะแต่ง

                นอกจากเลี้ยงปลาคราฟให้เจริญเติบโตอย่างแข็งแรงแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าถ้าหากต้องการส่งประกวดก็ต้องมีเทคนิคเพิ่มเติม เพื่อตกแต่งปลาของเราให้สวยงามมากขึ้น เช่นเดียวกับคนที่เวลาเข้าประกวด ก็ต้องมีการขัดสีฉวีวรรณเพิ่มเติมเช่นกัน บางคนอาจจะเลือกทำศัลยกรรมตกแต่งปลา ซึ่งก็ไม่ผิด ถ้าหากปลาตัวนั้นมีความแข็งแรง และสามารถเข้ารับการทำศัลยกรรมได้ แต่นอกจากนี้ยังมีเคล็ดลับบางอย่างที่เราสามารถทำตามได้โดยที่ปลาไม่ต้องเจ็บตัว ซึ่งการเร่งลวดลายแบบไหนก็ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ที่เราต้องการส่งประกวดด้วย

  • ในการประกวด หากปลาตัวใหญ่ก็อาจจะดูที่สัดส่วนและหุ่นของปลา ซึ่งขึ้นกับอาหาร ปริมาณโปรตีน หรือค่า pH ในน้ำ แต่ถ้าเป็นปลาตัวเล็กก็แข่งกันที่ลวดลายบนตัวปลา จริง ๆ แล้วลวดลายติดตัวมาตั้งแต่เกิด แต่ก็ไม่ใช่ว่าตอนเล็กลายสวย โตไปลายจะยิ่งสวยขึ้น และไม่ใช่ว่าปลาบางตัวตอนเล็กไม่สวย โตไปจะยิ่งขี้เหร่ ลวดลายเหล่านี้เปลี่ยนแปลงได้ และควรเตรียมความพร้อมก่อนประกวดอย่างน้อย 2-3 เดือนล่วงหน้า
  • การเร่งสีแดง อันดับแรกเลยคือเรื่องของอาหาร ในเมืองไทยจะมีอยู่หลายยี่ห้อ การให้อาหารเร่งสีควรทยอยให้เรื่อย ๆ แต่ควรงดที่ 1 เดือนก่อนการประกวด มิเช่นนั้น สีจะมากเกินไปจนกลายเป็นสีแตกได้ อีกประการหนึ่งที่มีผลคือค่า pH และความกระด้างของน้ำ โดยที่ค่า pH ต่ำและน้ำที่มีความกระด้างอ่อนจะช่วยเร่งสีแดงให้ชัดขึ้นได้
  • การทำสีดำ ในทางกลับกัน ค่า pH ของน้ำที่สูงและความกระด้างจะช่วยเร่งสีดำให้ชัดขึ้น นอกจากนั้นอาจจะใช้ปะการัง และเกลือ 1-2 กิโลกรัมต่อน้ำ 1 ตัน หรือใช้ผง Refresh ต่าง ๆ มาช่วยเร่งสีได้อีกด้วย
  • การทำขาว จะง่ายต่อปลาที่มีสีขาวเป็นเบสอยู่แล้ว โดยส่วนมากจะทำเป็นระยะเวลาตั้งแต่ 2-6 สัปดาห์ ใช้วิธีการไล่น้ำหรือล้นน้ำ เป็นวิธีที่ง่าย แต่อาจจะเปลืองน้ำพอสมควร ข้อสำคัญคือต้องระวังคลอรีนในน้ำประปา ดังนั้นต้องพักน้ำที่จะใช้ไว้ก่อน 24 ชั่วโมงในบ่อพักน้ำ นอกจากนั้นอาหารที่มีผลคืออาหารสูตรธัญพืชทั้งหลาย และงดอาหารเร่งสีต่าง ๆ ทั้งหมด

จะเห็นได้ว่าการเลี้ยงปลาคราฟเพื่อส่งประกวดต้องใส่ใจตั้งแต่ขั้นแรกจนถึงขั้นสุดท้าย สิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยทั้งแรงกาย แรงใจ และแรงเงิน ไม่ควรมองแค่ว่าเราซื้อปลาหนึ่งตัวมาเพื่อเตรียมส่งประกวดเท่านั้น ปลาก็เหมือนกับคน เลือกเกิดไม่ได้ อีกทั้งยังเลือกใช้ชีวิตไม่ได้อีกต่างหาก ดังนั้นก่อนจะเริ่มเลี้ยงควรมั่นใจว่าจะสามารถเลี้ยงดูให้ปลาได้เติบโตอย่างมีคุณภาพและมีความสุข เพราะปลาคราฟก็เป็นสิ่งที่มีชีวิตและจิตใจเช่นเดียวกันกับเรา ความสุขของปลาก็ย่อมสะท้อนเป็นพลังบวกให้ผู้เลี้ยงปลามีความสุขได้อย่างแน่นอน