โรคของปลาคราฟ

คนเลี้ยงต้องรู้ โรคของปลา ปลาคราฟก็ป่วยได้

สำหรับคนที่มีความชอบในการเลี้ยงปลาคราฟ จำเป็นต้องมีความรู้ถึงโรคร้ายสำคัญ ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับน้องปลาคราฟแสนรักของเรา ซึ่งคงมีหลายโรคที่เราเองนั้นอาจจะยังไม่เคยรู้จักมาก่อน อย่างไรก็ตาม การทำความรู้จักและเข้าใจเกี่ยวกับโรคที่อาจเกิดขึ้นกับน้องปลาก็จะช่วยให้เราสามารถสังเกต และดูแลน้องปลาของเราได้อย่างถูกต้อง อีกทั้งยังช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของโรคร้ายในบ่อเลี้ยง ทำให้เจ้าปลาแสนสวยตัวอื่น ๆ ก็ไม่ต้องเสี่ยงติดโรคไปด้วย

รวม 5 โรคร้ายที่สามารถจะเกิดขึ้นได้กับปลา

โรคปลาคราฟ เลี้ยงปลาคราฟต้องรู้

1. โรคครีบติดเชื้อแบคทีเรียหรือหางเน่า

โรคหางเน่าเป็นหนึ่งในโรคที่พบได้บ่อยในปลาคราฟ โรคนี้มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่เกิดได้จากการที่ปลาในบ่อต่อสู้กัน จนทำให้เกิดบาดแผลบริเวณหางและครีบ ทำให้เกิดการติดเชื้อได้ เพราะบางทีน้ำภายในบ่อเลี้ยงอาจจะไม่สะอาดมากพอ

หากอาการรุนแรงมากยิ่งขึ้น ครีบบางส่วนของน้องปลาอาจจะหลุดได้ (น้องปลาน่าสงสารมาก) แต่ยังพอมีวิธีการรักษาน้องได้ คือเราต้องใช้ยาปฏิชีวนะกับน้อง ซึ่งวิธีการรักษานี้ต้องทำโดยผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น เพื่อความปลอดภัยของน้องและสามารถรักษาได้อย่างตรงจุดที่สุด

2. อาการแผลเปื่อย

แม้ว่าอาการแผลเปื่อยอาจจะดูไม่ค่อยมีอาการมากนัก แต่ก็นับว่าเป็นอีกโรคที่คนเลี้ยงปลาคราฟเอง ห้ามมองข้ามเด็ดขาด โรคนี้อาจเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ เช่น ตอนจับน้องปลาออกจากบ่อ น้องดิ้นจนผิวลำตัวเกิดบาดแผลหรือบาดเจ็บบริเวณเกล็ด ซึ่งโรคนี้จะแสดงอาการบริเวณใต้เกล็ด

นอกจากนี้น้องปลาอาจเกิดจากการติดเชื้อโดยแบคทีเรีย ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้เนื่องมาจากสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมสำหรับการอยู่อาศัย ดังนั้นเราควรตรวจสอบอาการและดูแลเจ้าปลาแสนรักอย่างระมัดระวัง เพื่อป้องกันและรักษาอาการแผลเปื่อยให้ดีขึ้นโดยเร็ว

3.โรคเหงือกติดเชื้อแบคทีเรีย

โรคเหงือกติดเชื้อแบคทีเรียเป็นโรคที่พบได้บ่อยในปลาคราฟ โรคนี้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในเหงือกของน้องปลา ซึ่งสามารถเกิดได้จากระบบน้ำในบ่อเลี้ยงที่อาจจะไม่ดีมากพอ เกิดความแออัดของจำนวนปลาในบ่อที่มีมากจนเกินไป อุณหภูมิของน้ำในบ่อสูงจนเกินไป สาเหตุเหล่านี้สามารถก่อให้เกิดโรคเหงือกติดเชื้อแบคทีเรียได้ทั้งสิ้น

วิธีการสังเกตอาการของโรคเหงือกติดเชื้อแบคทีเรีย สามารถสังเกตได้จากเส้นใยบริเวณเหงือกของน้องปลามีความเสียหายเกิดขึ้น น้องปลาเริ่มขึ้นมาหายใจที่บริเวณผิวน้ำ อีกทั้งยังสามารถสังเกตจากเยื่อบุบริเวณผิวของปลาได้ด้วย ข้อที่ควรตระหนัก คือ โรคนี้สามารถส่งผลให้เกิดปัญหาทางสุขภาพและการเจริญเติบโตได้

4.วัณโรคปลา

วัณโรคปลาในปลาคราฟเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Mycobacteria โรคนี้จะกระจายอยู่ในน้ำในบ่อเลี้ยงและสามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพของปลา เมื่อน้องปลาของเราติดเชื้อวัณโรค น้องอาจจะไม่ค่อยแสดงอาการ ส่วนมากน้องปลาที่ติดเชื้อวัณโรคมักจะมีอาการที่อวัยวะภายในเท่านั้น

ซึ่งอาการเหล่านี้เกิดได้จากการให้ปลารับประทานอาหารสด เช่น หนอนแดงหรือไรทะเล มากเกินไป จนทำให้ปลาเกิดการติดเชื้อ เพราะฉะนั้นก่อนให้อาหารควรทำความสะอาดเสียก่อนด้วยวิธีการแช่น้ำด่างทับทิมทิ้งไว้ประมาณ 10-15 นาที แล้วค่อยให้อาหารน้องปลาในบ่อ

5.โรคตาโปน

โรคตาโปนเป็นโรคที่พบได้ในปลาคราฟ ซึ่งมักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งโรคตาโปนจะทำให้ตาของน้องปลาพองอวบขึ้นจากเบ้าตา โรคนี้ส่วนมากจะเกิดขึ้นเพราะคุณภาพน้ำในบ่อเลี้ยงไม่ดี ทำให้น้องปลาของเราเกิดอาการติดเชื้อ

วิธีการรักษานั้นผู้เลี้ยงจะต้องทำการล้างทำความสะอาดบ่อเลี้ยง หรือทำการเปลี่ยนถ่ายน้ำในบ่อให้สะอาดก่อน จากนั้นต้องนำเจ้าปลาที่ป่วยไปแช่ทิ้งไว้ในน้ำที่มีใบหูกวางประมาณ 2-3 วัน เพราะยางของใบหูกวางจะช่วยรักษาแผลต่าง ๆ และอาการตาปูดโปนของน้องปลาได้

สรุป

การเลี้ยงปลาคราฟเป็นกิจกรรมที่คนนิยมมาก สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึง ได้แก่ การดูแลสุขภาพของปลาที่เลี้ยง เพื่อป้องกันและรับมือกับโรคร้ายที่อาจเกิดขึ้น ควรรักษาคุณภาพน้ำในบ่อเลี้ยงให้ดี เพราะนับว่าเป็นสิ่งสำคัญมากในการป้องกันการติดเชื้อ ควรเลี้ยงน้องปลาในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม คอยทำความสะอาดบ่อและดูแลระบบกรองน้ำให้มีประสิทธิภาพ สุดท้ายต้องหมั่นสังเกตปลาคราฟอยู่เป็นประจำ ถ้าหากมีอาการผิดปกติจะได้รักษาน้องปลาได้ทัน