ปลาคราฟป่วย

อาการนี้ป่วยแน่นอน การสังเกตอาการและดูแลรักษาเมื่อปลาคราฟเจ็บป่วย

คนเราเมื่อเกิดอาการเจ็บป่วย หากเป็นเพียงอาการเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็อาจจะแค่หาซื้อยาทานเอง นอนหลับพักผ่อนจนอาการดีขึ้นได้ แต่ถ้าหากเป็นอาการร้ายแรง ก็จำต้องไปโรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์ที่ทำการรักษาให้ แต่สัตว์เลี้ยงแตกต่างจากคนตรงที่มันพูดไม่ได้ สัตว์เลี้ยงบางชนิดแม้แต่ส่งเสียงร้องบอกตำแหน่งที่มีอาการเจ็บปวดยังทำไม่ได้เลยด้วยซ้ำ ปลาคราฟเป็นหนึ่งในนั้น ยิ่งปลาคราฟที่มีค่าตัวแพงด้วยแล้ว การที่ปลาเจ็บป่วยจนต้องตายไป นอกจากจะเสียใจแล้ว ยังเป็นที่น่าเสียดายอีกด้วย

อาการเบื้องต้นที่บ่งบอกว่าปลาป่วย

ปลาแต่ละตัวก็เหมือนคนแต่ละคน มีระบบภูมิคุ้มกันในการต้านทานโรคได้ไม่เท่ากัน ปลาที่เกิดอาการป่วยมักจะแยกตัวสันโดษจากปลาตัวอื่น ๆ ผิดวิสัยตามธรรมชาติของปลาคราฟที่เป็นสัตว์ชอบอยู่ร่วมกันเป็นฝูง ปลาป่วยจะไปแอบอยู่ตามขอบบ่อ ลอยตัวนิ่ง ๆ ไม่ว่ายน้ำ ไม่กินอาหาร หรือกินได้น้อยลง ในบางตัวอาจมีผิวหนังหรือสีสันที่มีความผิดปกติไป เมื่อมีการติดเชื้อ เช่น เกิดแผลตามลำตัว ซึ่งผู้เลี้ยงต้องสังเกตอย่างใกล้ชิด และแยกปลาป่วยออกจากบ่อให้ทันท่วงที ก่อนจะแพร่เชื้อสู่ปลาตัวอื่นทั้งบ่อ

สาเหตุของอาการป่วย

สาเหตุการป่วยส่วนใหญ่มักจะมาจากน้ำ อาหาร อากาศ สภาพแวดล้อมที่ใช้เลี้ยงปลา หรือพันธุกรรมของปลาแต่ละตัว โดยมีปัจจัยหลัก ๆ ที่พอจะจัดการได้ดังนี้

  • คุณภาพของน้ำ น้ำที่ใช้เลี้ยงปลาควรมีค่า pH ที่เหมาะสม (ค่าเป็นกลาง) โดยสามารถซื้อหาเครื่องมือในการใช้วัดได้จากร้านขายอุปกรณ์เลี้ยงปลา อุณภูมิของน้ำในเวลากลางวันและกลางคืนไม่ควรกระชาก คือกลางวันไม่ร้อนจัด และกลางคืนไม่เย็นจัด ค่าของเสียในน้ำ ได้แก่ ค่าแอมโมเนียหรือค่าไนไตรท์ไม่ควรสูงกว่ามาตรฐาน สามารถซื้อหาเครื่องมือในการวัดจากร้านขายอุปกรณ์เลี้ยงปลาเช่นกัน
  • อาหารที่ให้ปลา ควรจะมีคุณภาพดีและไม่ให้ปริมาณมากจนเกินไป จนทำให้น้ำเกิดการเน่าเสีย
  • ออกซิเจนในน้ำ ต้องไม่น้อยเกินไป หากน้อยเกินไป ต้องติดตั้งเครื่องเพิ่มออกซิเจน
  • ควรมีระบบการกรองน้ำที่ดี อาจต้องติดตั้งระบบกรองเพิ่มเติม และเพิ่มรังสียูวีที่ใช้ในการกรอง

ชนิดของโรคที่พบในปลาคราฟ

ภาพจาก koi108

โรคของปลาคราฟแบ่งเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ คือ โรคที่เกิดจากการติดเชื้อ และโรคที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ

  1. โรคที่เกิดจากการติดเชื้อ เป็นประเภทที่สำคัญ เนื่องจากปลาตัวที่ป่วยจะสามารถแพร่เชื้อไปสู่ปลาตัวที่ยังไม่ป่วยได้ โดยเชื้อก่อโรคที่พบได้บ่อย มีทั้งเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส รา โปรโทซัว และปรสิต แต่ละการติดเชื้อจะมีอาการเด่น ๆ ดังนี้
  • การติดเชื้อแบคทีเรีย ปลาคราฟจะมีอาการตัวบวม ตาบวมแดง มีตุ่มหรือแผลพุพอง แผลเปื่อยตามลำตัว มีก้อนเลือดหรือผื่นแดงขึ้นตามลำตัว รวมถึงเหงือกถูกทำลาย ทำให้ปลาต้องลอยหัวขึ้นฮุบอากาศบริเวณผิวน้ำตลอดเวลา การรักษาต้องใช้ยาปฏิชีวนะ แต่ถ้าหากตัวโรคมีความรุนแรงมาก อาจจะต้องให้การรักษาโดยผู้เชี่ยวชาญ
  • การติดเชื้อไวรัส จะมีอาการแสดงคล้าย ๆ กับการติดเชื้อแบคทีเรีย แต่สิ่งที่น่ากลัวคืออาการอาจจะไม่ออกในตอนแรก ทำให้มีการแพร่เชื้อจากปลาตัวที่ติดเชื้อไปสู่ตัวอื่นได้อย่างรวดเร็ว สุดท้ายจะนำไปสู่การติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วยได้
  • การติดเชื้อรา มักจะส่งผลที่ชั้นเยื่อบุผิว ทำให้เห็นเมือกลอกออกมา คล้ายปลากำลังลอกคราบ ท้ายสุดตัวจะลายแดงลามไปที่ครีบอีกด้วย การรักษาใช้การแช่เกลืออ่อน ๆ หรือการอาบน้ำด้วยเกลืออุ่น ๆ แต่ก็มีเชื้อราบางชนิดที่ไม่สามารถรักษาได้
  • การติดเชื้อจากปรสิตและโปรโทซัว ต้องอาศัยการสังเกตว่ามีสิ่งแปลกปลอมใดเกาะอยู่ตามตัวปลาหรือไม่ ผิวหนังแดงหรือลอกออก การรักษาถ้าหากเป็นพวกหนอนหรือปลิงต้องใช้คีมหรือผ้าสะอาดคีบออก แต่หากเป็นเชื้อบางตัวก็อาจต้องแยกปลาไปใส่อ่างที่ผสมน้ำยาฆ่าเชื้อในปริมาณและเวลาในการแช่ที่พอเหมาะ มิฉะนั้นยาฆ่าเชื้อก็อาจจะฆ่าปลาได้เช่นกัน
  1. อาการป่วยที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ อาจจะเป็นจากสาเหตุที่กล่าวมาในเบื้องต้น ทั้งจากน้ำ อาหาร อากาศ และปัจจัยทางพันธุกรรม จะทำให้ปลามีภาวะท้องผูกหรืออาหารไม่ย่อย ตาโปน โรคถุงลม หรือเนื้องอก หากเป็นอาการทางระบบย่อยอาหารหรือตาโปน วิธีการรักษาคือการเปลี่ยนอาหารหรือลดอาหารปลาลง ถ้าเป็นโรคถุงลม ปลาจะมีอาการว่ายน้ำผิดปกติ เทไปข้างใดข้างหนึ่ง ส่วนมากมักเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ต้องรักษาโดยการใช้ยาปฏิชีวนะ รวมถึงปรับปรุงคุณภาพน้ำ แต่ถ้าเป็นเนื้องอกยังไม่สามารถรักษาได้

วิธีการดูแลและป้องกันเพื่อรักษาโรค

  • แยกปลาตัวที่ป่วยออกมาไว้ในบ่ออื่น และทำการรักษาตามสภาวะโรคที่ปลาเป็น
  • งดการนำปลาใหม่เข้าบ่อในช่วงที่มีการระบาด
  • รักษาความแข็งแรงของร่างกายปลาให้มีระบบภูมิคุ้มกันที่ต้านทานโรคได้อยู่เสมอ โดยการให้วิตามินซีเสริมในอาหาร
  • ดูแลความสะอาดและล้างบ่อกรองอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยเดือนละครั้ง เพื่อลดจำนวนเชื้อก่อโรคและการสะสมของสารอินทรีย์ต่าง ๆ
  • ทุกครั้งที่มีการนำปลาใหม่เข้าบ่อ จะต้องทำการเตรียมบ่อกักโรคเพื่อกักปลาใหม่ไว้ก่อนอย่างน้อย 1 สัปดาห์ จึงจะสามารถนำไปรวมในบ่อเดียวกันกับปลาเก่าได้ รวมถึงอาจจะใส่สารฟอร์มาลิน 30-40 มล. ต่อน้ำ 1 ตัน แช่ทิ้งไว้เพื่อฆ่าเชื้อโรคในน้ำ ซึ่งสารนี้จะสลายไปเองภายใน 1-2 วัน
  • ทุกครั้งที่มีการทิ้งน้ำจากบ่อเลี้ยงเมื่อในบ่อมีปลาป่วย ควรนำไปพักไว้ก่อน และใส่คลอรีนผง 50 กรัม ต่อน้ำ 1 ตัน ปล่อยทิ้งไว้ 1-2 วัน เพื่อฆ่าเชื้อที่อาจมีอยู่ในน้ำ ก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ เพื่อตัดวงจรในการแพร่เชื้อ

เราจะเห็นว่าปลาคราฟก็สามารถเกิดอาการเจ็บป่วยได้ไม่ต่างจากคน แต่ต้องการความใส่ใจและความรวดเร็วในการ

สังเกตให้พบที่มากกว่า เนื่องจากปลาคราฟเป็นสัตว์ที่ไม่สามารถพูดได้ แต่ถ้าหากเรามีความช่างสังเกตและเอาใจใส่ ก็ย่อมสังเกตเห็นอาการผิดปกติได้ไม่ยาก ถ้าเราสามารถแยกปลาตัวที่ป่วยออกมาได้ทัน และป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อไปยังปลาตัวอื่น ๆ ก็จะช่วยลดความสูญเสียทรัพยากรทั้งทางด้านทุนทรัพย์และทางด้านจิตใจได้ เท่านี้ปลาคราฟแสนรักของเราก็จะสุขภาพดี อยู่กับเราไปตลอดอายุขัยที่แท้จริง