ในยุคสมัยปัจจุบันที่สัตว์เลี้ยงเป็นมากกว่าสัตว์เลี้ยง บางคนเลือกเลี้ยงตามความชอบส่วนตัว บางคนเลือกเลี้ยงตามกระแสสังคม หรือบางคนที่เลี้ยงเพื่อใช้เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการประกอบอาชีพ หากเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมยอดนิยมอย่างสุนัขหรือแมว ยังคงเป็นสัตว์เลี้ยงยอดฮิตเพราะฝึกฝนให้ตอบสนองคำสั่งของเจ้านายได้ แต่กับสัตว์เลี้ยงชนิดอื่นที่ไม่สามารถบังคับให้หยุดนิ่งฟังคำสั่งได้ อย่างเช่น ปลาคราฟ ผู้คนก็ยังนิยมเลี้ยงกันมากขึ้น เพราะด้วยสีสันลวดลายสวยงาม และสามารถคลายเหงาได้ไม่ต่างกัน เพียงแค่เห็นมันว่ายแหวกในสายน้ำก็รู้สึกความผ่อนคลาย การเลี้ยงสัตว์ที่ตอบรับคำสั่งเราไม่ได้นั้น จะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย ถ้าเพียงเข้าใจเทคนิคขั้นพื้นฐานเหล่านี้ ปลาคราฟแสนสวยก็เติบโตสมใจ อยู่กับเราไปอีกนานแสนนาน
หัวข้อทั้งหมด
ทำความรู้จักกับปลาคราฟก่อนเริ่มเลี้ยง
ปลาคราฟเป็นปลาที่มีดีมากกว่าความสวยงาม จริง ๆ แล้วปลาคราฟเป็นปลาที่เชื่อง รักสงบ ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง และเลี้ยงง่าย แถมยังนำไปต่อยอดสร้างรายได้ได้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการประกวดหรือเพาะพันธุ์เพื่อขยายสายพันธุ์ขาย ดังนั้น ก่อนที่จะเริ่มเลี้ยง เราจึงควรเริ่มต้นจากการที่ผู้เลี้ยงต้องมีความเข้าใจเสียก่อน
- ปลาคราฟมีหลายราคา ตั้งแต่ราคาหลักร้อยจนถึงราคาหลักแสน เลือกได้ตามแต่ทุนทรัพย์ของผู้เลี้ยงด้วย แต่ละสายพันธุ์ต่างกันตรงที่สีสันและลวดลายสวยงามบนตัวปลา เราต้องตอบคำถามตนเองให้ได้ก่อนว่าต้องการปลาคราฟที่มีรูปลักษณะแบบใด ราคาเท่าไหร่ และจุดประสงค์เพื่อนำมาเลี้ยงดูเล่น หรือนำไปเพาะพันธุ์ขาย จะได้เลือกปลาคราฟให้ตรงใจมากที่สุด
- ปลาคราฟญี่ปุ่นมีมากกว่า 100 สายพันธุ์ แต่มีสายพันธุ์ที่นิยมเลี้ยงมากที่สุด มีอยู่ประมาณ 8 สายพันธุ์ ได้แก่ Gosanke , Hikarimuji, Utsurimono, Kawarimono, Koromo, Bekko, Asagi และ Shusui โดยที่สายพันธุ์ Gosanke ได้รับความนิยมในการเลี้ยงมากที่สุด เนื่องจากมีผิวสีขาวเปล่งประกาย และมีจุดสีดำ แดง หรือส้มแต้มบนลำตัวอย่างสวยงาม บางตัวขายได้ราคาสูงแตะหลักล้านเลยทีเดียว
เตรียมสถานที่และสิ่งแวดล้อมในการเลี้ยง
นอกจากหาข้อมูลเกี่ยวกับปลาที่จะเลี้ยงแล้ว ยังต้องจัดเตรียมสถานที่และสิ่งแวดล้อมในการเลี้ยงให้เหมาะสมอีกด้วย ปลาคราฟจึงจะสามารถอยู่รอดและเติบโตอย่างสวยงามได้
- บ่อที่ใช้เลี้ยงปลาควรมีขนาด 80×120 ซม. มีความลึก 50 ซม. และทำสะดือก้นบ่อขนาด 1×2 ฟุต ลึก 4-6 นิ้ว สำหรับเก็บขี้ปลาและสิ่งสกปรก บ่อขนาดนี้เหมาะสำหรับเลี้ยงปลาประมาณ 5 ตัว และเวลาปลาออกไข่จะมีไข่ถึงล้านฟอง หากจะเลี้ยงจำนวนมากกว่านั้น จำต้องเพิ่มขนาดหรือจำนวนของบ่อ อีกทั้งควรเป็นบ่อซีเมนต์เนื่องจากสามารถปรับแต่งให้กลมกลืนกับธรรมชาติได้ง่าย และมีตะไคร่น้ำเกาะอย่างรวดเร็ว ซึ่งตะไคร่น้ำเป็นอาหารของปลา และยังช่วยดูดซับแอมโมเนียรวมถึงสิ่งสกปรกในน้ำได้อีกด้วย บ่อควรตั้งอยู่ในที่ร่ม หรือใต้ร่มไม้ใหญ่ เนื่องจากการตั้งบ่อกลางแจ้ง จะทำให้ปลาโตช้าและสีสันบนตัวจืดจางลง หลังจากขุดบ่อเสร็จ ควรพักบ่อไว้ก่อน 2-3 วัน
- ควรติดตั้งปั๊มน้ำหรือระบบหมุนเวียนของน้ำ และเครื่องพ่นน้ำในบ่อ เพื่อทำให้อากาศมีการถ่ายเท และมีออกซิเจนหมุนเวียนในน้ำได้อย่างเพียงพอ และเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของปลา
- น้ำที่ใช้เลี้ยงปลาควรเป็นน้ำประปาดีที่สุด เนื่องจากมีสภาพเป็นกลาง หากใช้น้ำฝน หรือน้ำจากแม่น้ำลำคลอง จะต้องมีการเติมปูนขาวและยาฆ่าเชื้อเพื่อปรับสภาพน้ำเสียก่อน เนื่องจากอาจจะมีเชื้อโรคปนเปื้อนมา ปลาจะติดโรคได้ง่าย รวมถึงรักษาอุณหภูมิน้ำในบ่อให้อยู่ระหว่าง 20-25 องศาเซลเซียส เพื่อให้ปลาเจริญเติบโตได้ดี
การเลือกซื้อปลาคราฟ
เมื่อมีความรู้ความเข้าใจและจัดเตรียมสถานที่ในการเลี้ยงปลาอย่างเหมาะสมแล้ว การเลือกซื้อปลาคราฟไม่ว่าจะไปเลือกซื้อที่ฟาร์มปลา หรือจากคนรู้จัก เราก็ควรรู้วิธีในการเลือกซื้อปลาให้ได้ปลาที่ดีและมีคุณภาพ ดังนี้
- ถ้าต้องการเลี้ยงปลาเพื่อการขยายพันธุ์ในอนาคต ก็ต้องแยกให้ออกว่าปลาตัวใดเป็นเพศผู้ ตัวใดเป็นเพศเมีย โดยปลาเพศผู้จะสังเกตได้จากช่วงลำตัวและหัวที่มีขนาดสั้นกว่า ครีบหูจะแข็งแรงกว่า เมื่อลูบดูจะรู้สึกสาก ๆ เมื่อจับหงายท้องแล้วรีดเบา ๆ จะมีน้ำเชื้อสีขาวออกมา ในขณะที่เพศเมียจะมีลำตัวและหัวที่กว้างกว่า เป็นสัดส่วนที่พอเหมาะกัน บางตัวมีลวดลายสวยงามกว่าเพศผู้ ครีบไม่ค่อยแข็ง ส่วนท้องขยายใหญ่กว้าง ที่ช่องเพศใหญ่และนูนออกเป็นวงกลม
- ควรเลือกปลาคราฟที่ยังเป็นลูกปลา มีอายุ 1-2 ปี ไม่ควรเลือกปลาที่มีขนาดใหญ่จนเกินไป ยกเว้นเลือกปลาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่จะนำไปขยายพันธุ์ ควรเลือกปลาที่มีอายุ 3 ปีขึ้นไป
- สังเกตลักษณะของปลาว่าไม่ใช่ปลาป่วย โดยปลาที่มีสุขภาพดีจะต้องว่ายน้ำได้อย่างราบรื่น ไม่มีอาการกระตุก ส่วนของเหงือกเคลื่อนไหวสม่ำเสมอ และไม่แยกตัวสันโดษกับปลาตัวอื่น ๆ
วิธีการเลี้ยง
- ไม่นำปลาชนิดอื่นมาเลี้ยงรวมกับปลาคราฟ เนื่องจากอาจทำให้ปลาติดโรคได้
- ปลาที่ซื้อมาใหม่ อย่าเพิ่งปล่อยลงบ่อทันที ควรนำปลาพร้อมถุงใส่ปลาจากร้านแช่ลงในบ่อก่อนอย่างน้อย 5 นาที แล้วค่อย ๆ เปิดถุงปลา ปล่อยปลาลงบ่อเพื่อให้ปลาได้ปรับสภาพก่อน และไม่เกิดอาการน็อคน้ำ นอกจากนั้น อย่าเพิ่งให้อาหารอย่างน้อย 2-3 วัน เนื่องจากการเปลี่ยนสถานที่ จะทำให้สภาพการย่อยอาหารของปลาไม่ดี ปลาอาจจะท้องอืดและตายได้
- ควรให้อาหารปลาวันละ 2 ครั้ง ในตอนเช้าและตอนเย็น ถ้าจะให้ดีควรจะให้ในเวลาเดิม เพื่อฝึกให้ปลาเคยชินและมีความเชื่อง อาหารที่เหมาะสำหรับปลาคราฟได้แก่ เนื้อปลาป่น กุ้งสดบด เนื้อหอย เนื้อปู ปลาหมึก ข้าวสาลี รำ ผักกาด ข้าวโพด แมลง สาหร่าย ตะใคร่น้ำ แหน ลูกน้ำ หนอนแดง ถั่วเหลือง ขนมปัง และอาหารสำเร็จรูปแบบเม็ด สำหรับปริมาณอาหาร ควรให้แต่น้อย ๆ ก่อน ถ้าอาหารหมดเร็ว ก็ค่อย ๆ ให้เพิ่มได้ทีละน้อย เพราะหากให้เยอะเกินไป จะทำให้อาหารเหลือจนน้ำเน่าเสียได้
- เมื่อสังเกตว่าน้ำในบ่อเริ่มขุ่นและมีสิ่งสกปรกมาก ควรเปลี่ยนน้ำทันที โดยน้ำที่จะใช้เติมลงในบ่อต้องเป็นน้ำประปาที่ผ่านการกักเก็บไว้ 2-3 วัน เพื่อรอให้คลอรีนระเหยออกไปก่อน การถ่ายน้ำเริ่มต้นจากเทน้ำจากบ่อออกไป 1 ใน 3 แล้ว ควรเติมน้ำใหม่เข้ามาทันทีในปริมาณเท่าเดิม
- ควรสังเกตอาการที่บ่งบอกว่าปลาป่วย เช่น กินอาหารได้น้อยลง ว่ายนิ่ง ๆ แยกตัวจากปลาตัวอื่น เพื่อสามารถแยกปลาป่วยออกมาดูแลรักษาได้ทันท่วงที
ทั้งหมดนี้เป็นเทคนิคขั้นพื้นฐานสำหรับมือใหม่ที่จะเริ่มต้นเลี้ยงปลาคราฟ ตั้งแต่การเตรียมข้อมูล มีความรู้ความเข้าใจในสิ่ง
ที่กำลังจะทำ มีทุนทรัพย์ และมีสถานที่ในการเลี้ยงอย่างเหมาะสม แต่สิ่งที่จะทำให้ปลาคราฟเจริญเติบโตได้อย่างสวยงามคือการที่พึงระลึกไว้เสมอว่า การเลี้ยงสัตว์สักตัวหนึ่งซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตเช่นเดียวกันกับเรา สิ่งสำคัญที่สุดคือการเลี้ยงด้วยความรัก หากเรามีความรักเป็นพื้นฐาน ไม่ว่าจะกระทำการสิ่งใด สิ่งนั้นย่อมเจริญงอกงาม และส่งผลดีแก่เราและสัตว์เลี้ยงของเราอย่างแน่นอน