ปลาคราฟท้องป่อง

ปลาคราฟท้องป่อง อาจไม่ใช่เพราะอ้วน แต่เสี่ยงป่วย!

ปลาคราฟเป็นสัตว์เลี้ยงที่มีความน่ารักและเป็นที่นิยมในวงการคนรักสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงปลาคราฟเพื่อความสวยงามหรือเพื่อธุรกิจก็ตาม น้องปลาชนิดนี้เป็นสัตว์เลี้ยงที่มีลักษณะโดดเด่น สีสันสดใส มีความเป็นเอกลักษณ์ เพราะมีความหลากหลายในลวดลายบนเกล็ด ซึ่งส่งผลให้ปลาคราฟมีความสวยงามที่แตกต่างกัน

อย่างไรก็ตาม หากเราอยากเลี้ยงน้องปลา เราควรต้องรู้ถึงความสำคัญในการเลี้ยงปลาชนิดนี้อย่างถูกต้อง การเตรียมสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม การให้อาหารที่ถูกต้อง และการเฝ้าระวังสุขภาพของน้องปลา ซึ่งสุขภาพของน้องปลาควรเป็นสิ่งแรกที่ผู้เลี้ยงคำนึงถึง โดยเราต้องหมั่นสังเกตและศึกษาน้องปลาของเราอยู่เสมอ เช่น บางคนอาจจะคิดว่าน้องปลาในบ่ออุดมสมบูรณ์ น้องกินอาหารจนอ้วนพี แต่ทว่าน้องปลาที่อ้วนจนท้องป่องผิดปกติ อาการเหล่านั้นอาจจะกำลังส่งสัญญาณอันตรายบางอย่างก็เป็นได้

สาเหตุที่ทำให้น้องปลาคราฟท้องป่อง

ปลาคราฟ ท้องป่อง
เมื่อพบว่าน้องปลามีอาการท้องบวมหรือท้องกลมป่อง นั่นอาจเป็นสัญญาณให้เราต้องระวังและดูแลสุขภาพของพวกเขาอย่างเคร่งครัดมากขึ้น การที่ปลาคราฟท้องบวมเป็นสภาวะที่พบได้บ่อยในการเลี้ยงปลา และสามารถมีหลายสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการนี้ขึ้น เพื่อให้พวกเขามีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตและพัฒนาต่อไป เราจำเป็นต้นรู้ถึงสาเหตุและวิธีการดูแลน้อง ๆ อย่างถูกต้อง

โรคบวมน้ำ

น้องปลาของเราอาจติดเชื้อจากแบคทีเรียหรือเชื้อราได้ ซึ่งส่งผลให้ระบบไตของพวกน้องปลาทั้งหลายไม่สามารถปรับสมดุลน้ำในร่างกายได้ ทำให้เกิดการสะสมน้ำในเนื้อเยื่อและอวัยวะต่าง ๆ น้องปลาบางตัวก็มีการเกล็ดหลุดร่วมด้วย

สาเหตุที่ทำให้น้องติดเชื้อเป็นโรคบวมน้ำ ส่วนมากจะมาจากน้ำในบ่อเลี้ยงไม่สะอาด ปริมาณของออกซิเจนในบ่อต่ำ ถ้าหากน้องปลาเกิดเป็นโรคบวมน้ำในระยะที่รุนแรงแล้ว อายุของน้องก็จะสั้นลงอย่างรวดเร็ว เฉลี่ยแล้วน้องจะกลับดาวปลาภายใน 1 สัปดาห์ แต่ถ้าหากรู้ทันโรคนี้ก่อนสามารถรักษาน้องด้วยยาปฏิชีวนะได้

เกล็ดพอง

อาการเกล็ดพองที่เกิดขึ้นกับน้องปลา สืบเนื่องมาจากปัจจัยจากสิ่งแวดล้อมภายนอก ทั้งคุณภาพน้ำในบ่อที่ไม่ดี บ่อน้ำมีความสกปรก รวมไปถึงความเครียดที่อาจเกิดขึ้นกับน้องปลาด้วย เมื่อภูมิคุ้มกันของน้องปลาของเราไม่ดีเท่าที่ควรจะเป็น น้องปลาก็จะป่วยง่ายมากขึ้น ใต้เกล็ดน้องก็จะอักเสบและเส้นเลือดพองขึ้น ทำให้เกล็ดพองขึ้นตามจนเกล็ดไม่แนบกับลำตัวปลา ท้องของน้องก็จะบวมเป่งอย่างผิดปกติ ซึ่งปลาบางตัวอาจจะตาปูดโปนร่วมด้วย

วิธีการรักษาก็คือต้องแยกน้องปลาที่ป่วยออกมา เพื่อให้ยารักษาตามอาการ ส่วนในบ่อเลี้ยงปลาคราฟต้องมีการทำความสะอาด ปรับสมดุลบ่อให้เหมาะสมกับการเลี้ยงปลามากยิ่งขึ้น และเราต้องหมั่นสังเกตอาการของน้องปลาอยู่เสมอ เพราะเวลาที่น้องปลาป่วย น้องไม่สามารถพูดบอกเราได้ เราจำเป็นต้องใส่ใจเขาให้มาก

อาหารไม่ย่อย

ปลาคราฟเป็นสัตว์น้ำที่กินทั้งพืชและสัตว์ หากกระเพาะของน้องปลาย่อยอาหารได้ไม่ดี อาจทำให้น้องปลาเกิดอาการอาหารไม่ย่อยจนท้องบวมเป่งได้ ในการรักษาน้อง ๆ ที่มีอาการอาหารไม่ย่อยนี้แนะนำให้เปลี่ยนอาหารและเลือกอาหารที่เหมาะสม สามารถย่อยได้ง่าย และจำกัดจำนวนที่ให้น้องปลาด้วย อีกทั้งหลีกเลี่ยงการให้อาหารที่มีคุณภาพไม่ดีหรือหมดอายุ เพราะอาจทำให้น้องปลาเสี่ยงติดเชื้อได้ นอกจากนี้ควรสังเกตและดูแลสุขภาพของน้องปลาสม่ำเสมอ โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวและพฤติกรรมการกินอาหารของเขา หากท้องของน้องยังไม่มีท่าทีที่จะยุบลง ควรหาวิธีรักษาแบบอื่นอย่างเหมาะสม

ช่องท้องมีการติดเชื้อ

การเลือกซื้อหรือให้อาหารน้องปลา เราจำเป็นต้องพิจารณาอาหารที่มีคุณภาพและตรวจสอบวันหมดอายุของอาหารชนิดนั้น ๆ หากเป็นอาหารสดก็ควรต้องมีความสดใหม่ ไม่เน่าเสียเด็ดขาด แต่ถ้าเป็นอาหารแห้งหรืออาหารสำเร็จรูปก็ต้องไม่หมดอายุ ไม่มีเชื้อราหรือมีสิ่งสกปรก หากให้อาหารที่ไม่ดีแก่น้อง น้องอาจจะเกิดอาการท้องบวมและลำไส้เกิดการอักเสบได้ด้วย ก่อนให้อาหารน้องควรตรวจสอบอาหารก่อนทุกครั้ง

 

สรุป

การเลี้ยงปลาคราฟเป็นกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลาย แน่นอนว่าสีสันและลวดลายที่สวยงามของน้องปลานั้น สามารถทำให้เจ้าของอย่างเรารู้สึกมีความสุขได้ไม่ยากเลย แต่อย่างที่บอกไปในข้างต้นว่า การเลี้ยงน้องปลาจำเป็นต้องดูแลและเอาใจใส่ให้มาก เพราะเขาไม่สามารถสื่อสารกับเราได้ เจ้าของต้องคอยสังเกตเขาอยู่เสมอและต้องรักษาน้องทันทีหากมีอาการใดที่ผิดปกติ เพื่อให้น้องปลาได้อยู่กับเราไปนาน ๆ นั่นเอง