ขยายพันธ์ปลาคราฟ

วิธีการเพาะพันธุ์ปลาคราฟ ช่องทางสู่การเป็นเจ้าของฟาร์มปลาคุณภาพดี

นอกจากปลาคราฟจะเป็นสัตว์เลี้ยงมงคล ที่ผู้เลี้ยงมีความเชื่อว่าปลาชนิดนี้หากเลี้ยงให้ถูกต้องตามหลักฮวงจุ้ย จะนำมาซึ่งความสุข ความโชคดี มั่งมีทรัพย์สินเงินทองแล้ว ตัวของปลาคราฟเองก็สามารถสร้างช่องทางรวยให้กับผู้เลี้ยง โดยที่ไม่ต้องอาศัยหลักความเชื่อได้อีกด้วย เนื่องจากความนิยมเลี้ยงปลาคราฟเพิ่มขึ้นทุกปี ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงเพื่อประดับสวนสวยงาม หรือการเลี้ยงเพื่อความเป็นสิริมงคล ดังนั้นหากเรารู้ว่าหลักการเพาะเลี้ยงปลาคราฟที่ถูกต้องทำอย่างไร ช่องทางในการสร้างอาชีพใหม่ ที่จะกลายเป็นอาชีพหลักหรืออาชีพเสริมในอนาคตย่อมเกิดขึ้นอย่างแน่นอน คุณควรจะเริ่มต้นเพาะเลี้ยงปลาคราฟอย่างไรให้ได้ปลาที่มีคุณภาพ พัฒนาสู่การเป็นฟาร์มปลาที่ดี เรามีข้อมูลมาฝากแล้ว

ข้อมูลพื้นฐานสำหรับเริ่มต้นเพาะพันธุ์ปลาคราฟแบบง่าย ๆ คุณเองก็ทำได้

ภาพจาก no1koi.com

ธุรกิจปลาคราฟในประเทศไทยเริ่มต้นในปี พ.ศ. 2493 ที่เราเริ่มนำปลาคราฟมาจากประเทศญี่ปุ่น และเมื่อประเทศไทยได้เริ่มทดลองเพาะพันธุ์ และพัฒนาสายพันธุ์ปลาคราฟจนประสบความสำเร็จ เราจึงลดการนำเข้าปลาคราฟที่มีราคาสูงจากประเทศญี่ปุ่นลง ทำให้การสั่งซื้อสายพันธุ์ปลาคราฟในไทยเริ่มเพิ่มมากขึ้น จนธุรกิจฟาร์มปลาเติบโตขึ้นในทุก ๆ ปี โดยหลักการเพาะพันธุ์ปลาคราฟให้ได้ปลาที่มีคุณภาพดี มีข้อมูลพื้นฐานง่าย ๆ ดังต่อไปนี้

  • การดูสายพันธุ์ หลักการง่าย ๆ ในการเลือกสายพันธุ์ที่จะนำมาเพาะเลี้ยง คือการเลือกพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ ที่มีลักษณะถูกต้องตามสายพันธุ์โดยตรง เช่น ตันโจ จะต้องมีสีขาวสลับแดงเท่านั้น หรือเบคโกะ จะต้องมีสีขาวสลับดำ หากนอกเหนือจากนี้จะไม่เรียกว่าเป็นสายพันธุ์โดยตรง ดังนั้นผู้เพาะเลี้ยงจะต้องรู้ความต้องการของตัวเองก่อนว่า ต้องการเพาะพันธุ์ปลาคราฟชนิดใด และศึกษาให้เข้าใจถึงลักษณะอันโดดเด่นของสายพันธุ์นั้น ๆ 
  • ต้องดูเพศของปลาให้เป็น เพศของปลาคราฟ มีวิธีสังเกตง่าย ๆ คือ หากเป็นตัวเมีย ลำตัวจะอ้วนและสั้น ครีบที่อกจะเล็กกว่าลำตัวอย่างเห็นได้ชัด ส่วนตัวผู้จะมีลำตัวผอมและยาว ครีบที่อกใหญ่และกว้าง เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ ให้แยกตัวเมีย 1 ตัวต่อตัวผู้ 2 ตัว เนื่องจากตัวเมียนั้นจะมีไข่เยอะ การใช้ตัวผู้ 2 ตัวจะช่วยให้ปล่อยน้ำเชื้อเข้าไปผสมกับไข่ได้ทัน
  • ฤดูผสมพันธุ์ ในประเทศญี่ปุ่นนั้นปลาคราฟจะวางไข่ในเดือนเมษายน – สิงหาคม เนื่องจากเป็นช่วงที่อากาศอบอุ่น หากเป็นเดือน พฤศจิกายน – กุมภาพันธ์ จะเป็นช่วงฤดูหนาว ปลาจะไม่วางไข่ อีกทั้งยังไม่เจริญเติบโตอีกด้วย ในประเทศไทยการเพาะเลี้ยงปลาคราฟจะได้เปรียบกว่าในประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากเราเป็นประเทศที่มีอากาศร้อนชื้นเกือบตลอดทั้งปี ทำให้สามารถเพาะพันธุ์ปลาได้มากกว่า
  • อายุของปลาที่เหมาะใช้เพาะพันธุ์ ปลาคราฟที่มีความพร้อมและเหมาะสมในการเพาะพันธุ์ คือ ควรมีอายุ 4-5 ปี และควรจะมีลำตัวยาวมากกว่า 10-12 นิ้ว เนื่องจากหากใช้ปลาที่มีสัดส่วน และอายุน้อยกว่านี้ เมื่อวางไข่เปลือกไข่จะบาง ทำให้เสียหายก่อนจะฟักเป็นตัว หรือหากใช้ปลาที่มีอายุและสัดส่วนมากกว่านี้ เปลือกไข่จะหนาทำให้สเปิร์มเจาะเข้าไปไม่ได้ 

วิธีการเพาะพันธุ์ปลาคราฟ สร้างฟาร์มปลาด้วยตัวเอง

สร้างฟาร์มปลาคราฟ

เมื่อได้ทราบข้อมูลพื้นฐานสำหรับการเตรียมปลาคราฟเพื่อเพาะพันธุ์แล้ว คุณก็พร้อมที่จะสร้างฟาร์มปลาในอนาคตด้วยตัวเองแล้วเช่นกัน โดยการเตรียมสถานที่สำหรับผสมพันธุ์และวิธีการผสมพันธุ์ ไม่มีอะไรที่ซับซ้อนหรือยากเกินทำความเข้าใจ รายละเอียดง่าย ๆ มีดังต่อไปนี้

  • การเตรียมบ่อผสมพันธุ์ เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ ให้ทำการกักน้ำประปาทิ้งไว้ก่อน 3-4 วัน เพื่อให้คลอลีนในน้ำหมดไป น้ำที่ได้มาจะสะอาดและปราศจากเชื้อโรค จากนั้นนำเชือกฟางมาผูกกันให้เป็นพุ่ม นำท่อหรือไม้มาผูกติดกับพุ่มเชือก สำหรับหย่อนลงไปในน้ำ เพื่อให้ไข่ของปลาคราฟติดกับเชือกฟาง ใส่หัวทรายสำหรับต่อปั๊มลมลงไปในน้ำ เพื่อให้น้ำมีออกซิเจน ห้ามใช้ปั๊มน้ำแบบดูดแล้วพ่นออก เพราะจะทำให้ดูดไข่ปลาไปหมด
  • การผสมพันธุ์ เลือกปลาตัวเมียที่ท้องป่องมา 1 ตัวกับตัวผู้อีก 2 ตัว ปล่อยลงไปในบ่อที่เตรียมไว้ บ่อจะต้องไม่อยู่กลางแสงแดด ให้อาหารปลาพอประมาณ หาอะไรมาปิดปากบ่อป้องกันปลากระโดด ภายใน 3-7 วัน ปลาจะวางไข่ติดกับเชือกฟาง มีลักษณะเป็นเม็ดใส ๆ เมื่อเห็นว่าปลาท้องแฟบดีแล้ว ให้นำพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ออก เพื่อป้องกันพวกมันกินไข่และลูกจนหมด
  • ระยะเวลาการฟักไข่ เพื่อให้ลูกปลาคราฟฟักออกมาได้สมบูรณ์ ในบ่อจะต้องมีออกซิเจนอยู่ตลอดเวลา หมั่นดูดเศษตะกอนก้นบ่อบ่อย ๆ เพื่อป้องกันน้ำเสีย ตัวอ่อนจะพัฒนาอยู่ในไข่จนเห็นเป็นจุดสีดำในไข่ นั่นคือลูกตาของปลา และจะฟักออกจากไข่ภายในเวลา 2-3 วัน ลูกปลาเหล่านี้จะเกาะอยู่ตามก้นบ่อ หรือตามผนังบ่อ สังเกตเห็นได้เป็นเส้นสีดำเล็ก ๆ ลูกปลาระยะนี้ยังไม่กินอาหาร มันจะใช้เวลาย่อยอาหารจากถุงไข่แดงที่ท้องมันจนหมดภายใน 3-4 วัน
  • วิธีดูแลลูกปลา การอนุบาลลูกปลาจะเริ่มในวันที่ 4 หลังจากปลาฟักออกมาจากไข่แล้ว เมื่อลูกปลาเริ่มว่ายขึ้นมา ให้เริ่มให้อาหาร โดยให้ใช่ไข่แดงต้มสุกนำไปบดให้ลูกปลากิน ไข่แดงต้มสุกจะเข้าไปกระตุ้นการทำงานในท้องปลา ให้ไข่แดงประมาณ 7 วัน และระมัดระวังอย่าปล่อยให้น้ำเน่า เพราะลูกปลาจะตาย โดยวิธีการให้อาหารคือ ให้ทีละน้อยแต่ให้บ่อย ๆ ทุก 2 ชั่วโมง วันละ 5-6 ครั้ง เมื่อเลย 7 วันมาแล้วเข้าสู่วันที่ 8 ให้เริ่มใช้อาหารปลาชนิดลอยน้ำ เลือกอาหารที่มีส่วนผสมของสาหร่ายสไปรูลินา โปรตีน เบต้ากลูแคน และโปรไอโอติก นำอาหารปลาไปบดละเอียดพร้อมไข่แดงต้ม ให้อาหารชนิดนี้ต่อไปอีก 3-4 วันจึงหยุดไข่แดงต้ม เหลือเพียงอาหารปลาบดอย่างเดียว
  • วิธีการดูลูกปลา เมื่อลูกปลาคราฟอายุ 1 เดือน ให้เลือกลูกปลาที่มีอาการผิดปกติออกจากลูกปลาปกติ โดยเลือกจากอาการป่วย อาการว่ายแล้วเสียทรง อย่าเลือกที่สีปลา เพราะลูกปลาคราฟจะยังไม่เห็นสีชัดเจนในอายุเท่านี้ และโดยส่วนใหญ่ เมื่อพวกมันโตขึ้น ตำแหน่งสีที่เป็นสีดำมักจะเปลี่ยนเป็นสีแดง

ไม่ยากแต่ก็ไม่ง่ายสำหรับการสร้างฟาร์มปลาคราฟด้วยตัวเอง ส่วนที่ไม่ยากคือ ไม่ต้องลงทุนเยอะอย่างที่คิด ของทุกอย่างล้วนใช้ของที่มีอยู่แล้ว หากยังไม่เคยมีบ่อปลาคราฟมาก่อน ก็สามารถเริ่มต้นธุรกิจได้ด้วยพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ เพียง 1 ตัวเมีย กับ 2 ตัวผู้เท่านั้น เลือกสายพันธุ์ที่คิดว่าชอบและถูกใจมากที่สุด ส่วนที่ยากของการสร้างฟาร์มปลาคือ จะเห็นได้ว่าการเพาะพันธุ์ต้องอาศัยเวลา ความละเอียดรอบคอบ และการเอาใจใส่ แต่ก็เช่นเดียวกับการทำธุรกิจอื่น ๆ ที่ต้องอาศัยปัจจัยเหล่านี้ด้วยเช่นกัน ดังนั้นเลี้ยงปลาคราฟให้สนุก เพาะพันธุ์ปลาเมื่อพร้อม แล้วคุณจะได้เป็นเจ้าของฟาร์มปลาที่มีคุณภาพ